เทศบาลตำบลบ้านหลวง เป็นเทศบาลบาลตำบลที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอจอมทองและถือว่าเป็นเทศบาลตำบลที่มีพื้นที่มากที่สุดจังหวัดเชียงใหม่ มีธรรมชาติที่สวยงามและมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ ปัจจุบันมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวในด้านโรงแรมรีสอร์ท จำนวนมาก ประกอบกับเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตจอมทอง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตจอมทอง ทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและรองรับการขยายตัวของเมืองจอมทอง ในอนาคตอีกด้วย
การเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเทศราชเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ทำให้นครเชียงใหม่ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ถูกลดบทบาทลงมาเป็นหัวเมืองหนึ่งในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ตั้งชุมชนที่อยู่โดยรอบวัดพระธาตุศรีจอมทอง ให้เป็นเมืองหนึ่ง โดยใช้ชื่อ “แขวงจอมทอง” และให้ใช้ชื่อเรียกตามตำนานวัดพระศรีจอมทอง (ปัจจุบันยกระดับเป็น วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร) แขวงจอมทอง มีพื้นที่ปกครอง 4 แคว้น คือ แคว้นบ้านหลวง แคว้นสองแคว แคว้นเตี๊ยะ แคว้นบ้านแปะ ต่อมา กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกฐานะสภาตำบลบ้านหลวงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวงและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 5 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลบ้านหลวง จนมาถึงปัจจุบัน
โดยเทศบาลตำบลบ้านหลวงตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมทอง ประมาณ 2 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 57 กิโลเมตร มีเนื้อที่โดยประมาณ 366 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อ : ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลสันติสุข กิ่ง อ.ดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ ติดต่อ : ตำบลดอยแก้ว และ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออก ติดต่อ : ตำบลข่วงเปา และ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตก ติดต่อ : เขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านทั้งหมด 23 หมู่บ้านและเป็นพื้นที่ราบสำหรับการเพาะปลูกน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาสูง พื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีน้ำตกที่สวยงามอยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอจอมทอง โดยมีประชากรทั้งสิ้น 17,594 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 3,830 ครัวเรือน
ในตำบลบ้านหลวงในอดีต ได้เกิดปัญหาต่างๆ ในด้านคุณภาพชีวิตขั้นวิกฤต รวมถึงปัญหาการปลูกข้าวเพื่อไว้เลี้ยงชีพนั้นแทบไม่พอกินและยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่บวกกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นดอยอินทนนท์มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงเรื่อยๆ ในที่สุดความอดอยากก็ตามมาและทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลน คนบนดอยสูงแห่งนี้ไม่มีข้าวพอกินในครัวเรือนไปทั่วทั้งดอยอินทนนท์ เพราะข้าวคือต้นทุนทางการดำเนินชีวิตของคนในตำบล
นายสุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ ชาวบ้านผาหมอน เล่าให้ฟังว่า ในสมัยเด็กๆ เขาจำได้ว่าในครอบครัวของเขาจะได้กินข้าววันละแค่สองมื้อ คือมื้อเช้ากับมื้อเย็นและบางวันแทบจะไม่มีกินเลยก็มี และไม่ใช่มีแค่ครอบครัวของเขาครอบครัวเดียวที่เจอสภาพปัญหาเช่นนี้ ในบางครอบครัวก็มีชีวิตที่แย่กว่านั้น
สำหรับพื้นที่บ้านผาหมอน หนองหล่ม อ่างน้อย แม่กาน้อย สบหาด เป็นชุมชนที่ตั้งของชาติพันธุ์ชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอทั้งหมด ภายใต้บริเวณดอยอินทนนท์ตะวันออก และมีวิถีด้านการเกษตรในการปลูกข้าวเลี้ยงชีพ แต่ว่าปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลผลิตได้น้อยในแต่ละปี จนเกิดภาวะอาหารขาดแคลนในพื้นที่
ในปี พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จลงมาในพื้นที่ตำบลและพบว่าราษฎรส่วนใหญ่ในตำบลบ้านหลวงประสบปัญหาการขาดแคลนข้าว จึงทรงมีรับสั่งให้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ในเขตอำเภอจอมทอง ตำบลบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นทุนเริ่มดำเนินกิจการธนาคารข้าวพระราชทาน โดยพระองค์ท่านได้ก่อตั้งธนาคารข้าวพระราชทานให้แก่ราษฎรพื้นที่ดอยอินทนนท์ อันประกอบไปด้วย บ้านผาหมอน บ้านอ่างกาน้อย บ้านแม่กลางหลวง บ้านหนองหล่ม และบ้านแม่แอบ ได้มีการตั้งคณะกรรมการในชุมชนให้ช่วยกันดูแล โดยมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อการดูแลและบริหารธนาคารข้าวในชุมชนได้ถือปฏิบัติมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
องค์ความรู้ของชุมชน หลักคิดแนวคิดของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านหลวงเล็งเห็นความสำคัญของพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้ในบริบทชุมชนของตำบลบ้านหลวง เมื่อผู้นำสภาฯได้ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้ในบริบทที่แตกต่างของแต่ละหมู่บ้านในตำบลบ้านหลวง ลักษณะภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศที่แตกต่าง มีพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้แตกต่างกัน ในแต่ละหมู่บ้านมีพันธุ์ข้าวที่มีความจำเพาะเฉพาะพื้นที่ และในการปลูกข้าวแต่ละปีมีการเก็บพันธุ์ข้าวโดยชุมชน จึงทำให้คุณภาพของพันธุ์ข้าวในชุมชนด้อยลงทุกปี จึงมีแนวคิดในการสร้างศูนย์เพาะพันธุ์ข้าวไว้สำหรับคนในชุมชนบ้านหลวงเพื่อสามารถคงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวบ้านหลวงและมีคุณภาพดังเดิมตลอดไป รวมถึงการมีแนวคิดในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการเก็บพันธุ์ข้าวที่มีความจำเพาะในพื้นที่ให้มีคุณภาพเสมอ
ผู้นำของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านหลวงได้มีแนวคิดในการที่จะรักษาพันธุ์ข้าวประจำแต่ละชุมชนไว้ให้มีคุณภาพที่ดี สามารถป้องกันและกำจัดศัตรูของข้าวได้ จนเมื่อได้รับรู้ปัญหาแล้วค้นหาเครือข่ายภาคีอย่างทางศูนย์วิชาการด้านการเพาะพันธุ์ข้าว มีการเชื่อมต่อกับศูนย์วิจัยข้าวสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เชื่อมต่อศูนย์อารักขาพืชแม่เหียะ เชื่อมต่อศูนย์วิจัยข้าวและธัญพืชเมืองเหนืออำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ เชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อศึกษาเรียนรู้อบรมเกี่ยวกับโรคพืช และดำเนินการเชื่อมโยงกับศูนย์องค์ความรู้ต่างดังกล่าวแล้วนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชนตำบลบ้านหลวง ร่วมกันเก็บเกี่ยวและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะจำเพาะและมีคุณภาพไว้ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลบ้านหลวง ทั้งหมดเกิดจากการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งท้องถิ่นท้องที่ในชุมชนมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนางานในชุมชน ผ่านกลไกการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านหลวงเป็นกลไกในการพัฒนางานต่างๆในชุมชน และมีกลไกในการบริหารจัดการธนาคารข้าวที่มาจากตัวแทนสมาชิกแต่ละหมู่บ้านทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกลุ่ม
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง (มูลค่าทางเศรษฐกิจ+คุณค่าทางสังคมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม)
ด้านเศรษฐกิจ คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น /สามารถแก้ไขปัญหาข้าวไม่พอกินได้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้านความสัมพันธ์ของคนในสังคม
-ผู้นำชุมชนตกผลึกทางความคิด สามารถวิเคราะห์ปัญหาในชุมชนและพยายามแก้ไขปัญหานั้นโดยชุมชน แล้วนำมาพิสูจน์ด้วยตนเอง(ชุมชน)
-ผู้นำชุมชนเห็นถึงความสำคัญของพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะจำเพาะประจำท้องที่บ้านหลวง
อุปสรรคปัญหา เนื่องจากชุมชนเป็นชนเผ่า งานด้านเอกสาร วิชาการขับเคลื่อนได้ช้า ต้องมีการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมงานด้านการพัฒนาชุมชนต่อไป
สิ่งที่ภาคภูมิใจ ชุมชนมีความตระหนักเห็นคุณค่าของพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ มีที่เดียวในบ้านหลวง เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป
แนวทางที่จะดำเนินต่อไป สร้างธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลบ้านหลวง
โดย นางสาวอัญชลี ปิตยา คณะทำงานจัดการองค์ความรู้ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่