เดิมชื่อตำบลศรีพรหม เปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อตำบลตาลชุม ตาลชุมมีหลายหมู่บ้าน จึงขอแยกมาเป็นอีกตำบลหนึ่ง ชื่อตำบลศรีภูมิ เหตุที่ชื่อตำบลเพราะกำนัน เป็นคนพื้นที่ ศรีภูมิ จึงเปลี่ยนมาเป็นตำบลศรีภูมิ จนถึงปัจจุบันซึ่งมีทั้งหมด 12 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ทั้งหมด 53,281 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดเอียง มีภูเขาไปทางทิศตะวันตกของตำบล พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่บริเวณที่ราบ ลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำไหลผ่านตั้งแต่หมู่ที่ 1,2,10,12,4,9,5 ตามลำดับ ซึ่งลักษณะภูมิประเทศภายในตำบล สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. พื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ มีจำนวนร้อยละ 9.39 ของพื้นที่ทั้งหมด
2. พื้นที่ดอนหรือพื้นที่ราบ มีจำนวนร้อยละ 13.04 ของพื้นที่ทั้งหมด
3. พื้นที่ดอนสูงหรือพื้นที่สูง มีจำนวนร้อยละ 77.57 ของพื้นที่ทั้งหมด
มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 6,616 คน ชาย จำนวน 3,297 คน เป็นหญิง 3,319 คน 1,822 หลังคาเรือน คนในตำบลมีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีลักษณะเป็นสังคมชนบทมีความเป็นพี่เป็นน้องมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน
นับย้อนไปเมื่อปี 2549 -2550 เกษตรกรในตำบลศรีภูมิมีการทำนา และมีการใช้สารเคมีเป็นหลักในการดูแลข้าวในนามีการใช้ทั้ง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิต
ระยะนี้มีเกิดปัญหา น้ำท่วม พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายพืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างมาก ภาครัฐให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ตามนโยบายโดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชงบประมาณในการชดเชยความเสียหายและ การใช้ความรู้ในการปลูกข้าว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้เสด็จทรงงานในจังหวัดน่านและได้เสด็จทอดพระเนตรพื้นที่ ทรงพระราชทานแนวทางในการพัฒนาและทรงพระราชทานโรงสีข้าวมอบให้กับชุมชนบ้านดอนมูล หมู่ที่ 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซีพี ในการสนับสนุนโรงสีและวัสดุอุปกรณ์ นอกจากนี้ที่บ้านดอนมูลได้เกิดการก่อตั้งกลุ่มกองทุนข้าว เพื่อจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยธรรมชาติ (น้ำท่วม) ระยะนี้ชุมชนเกิดการตื่นตัวในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว การรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เกิดการขยายผลเรื่องกองทุนข้าวเพิ่มขึ้นอีก 4 หมู่บ้าน หน่วยงานต่างๆเข้ามาหนุนเสริม การพัฒนาเช่น สถานีพัฒนาที่ดินได้ให้องค์ความรู้ในการปรับปรุงดิน ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ได้เข้ามาให้ความรู้ด้านการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ
กระทั่งในปี 2551-2557 เกิดการขยายตัวเรื่องโรงสีข้าวเข้าสู่ในระดับตำบลเกิดการรวมกลุ่มกันทำโรงสีข้าวระดับหมู่บ้าน/ตำบล เกิดการจัดตั้งกลุ่มโรงสีข้าวชุมชน มีการวางแผนงานการบริหารจัดการกลุ่ม มีคณะกรรมการจำนวน 15 คน จัดทำกฎระเบียบ/กติกาเพื่อเป็นข้อตกลงของกลุ่ม มีการสมาชิกกลุ่มจำนวน 1,000 คน ในระยะนี้เกิดแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการสร้างสุขภาพโดยเกิดความต้องการในการบริโภคและการผลิตข้าวที่ปลอดสารเคมีจำหน่าย ระยะนี้ รมต. ธนากร สุวรรณรัตน์ ได้มีการสนับสนุนเรื่องอาคารที่จัดตั้งเป็นหอประชุมสำหรับคณะกรรมการและกลุ่มโรงสีข้าวพระราชทาน
สมาชิกเริ่มทดลองปลูกข้าวปลอดสารเคมี ในปี 2551 มีสมาชิกจำนวน 100 คน พื้นที่ จำนวน 100 ไร่ในระยะสองปีแรกนี้ อบต.ศรีภูมิได้สนับสนุนค่าจ้างพนักงานประจำโรงสีพระราชทาน ให้ค่าตอบแทน เดือนละ 5000 บาท โดยให้ดูแลเรื่องการให้บริการในการสีข้าว การควบคุมเครื่องยนต์กลไกในโรงสี จำนวน 4 คน
ต่อมาใน ปี 2553 มีขยายผลจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจาก 100 ไร่ เป็นจำนวน 300 ไร่ เนื่องจากชาวบ้านเห็นผลผลิตที่สมาชิกในกลุ่มทำได้และสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ จึงต้องการเข้าเป็นสมาชิกเพิ่ม จากการเสด็จมาทรงงานของสมเด็จพระเทพฯ การติดตามผลการดำเนินงานของโรงสีข้าวพระราชทาน ทรงได้ให้แนวทาง เรื่องของการตรวจสุขภาพของสมาชิกกลุ่มเพื่อประเมินผลการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำนาข้าวเคมีที่ใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงเป็นการทำนาข้าวแบบปลอดภัยที่ลดการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งในระยะนี้มีจึงมีการตรวจสารพิษตกค้างในเลือดโดย รพ.สตซึ่งผลปรากฏว่าสมาชิกกลุ่ม มีผลเลือดอยู่ในระดับที่ดีขึ้นจากเดิม แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพของสมาชิกกลุ่มจากเดิมที่มีผลเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและอันตราย
นอกจากด้านสุขภาพแล้วในด้านเศรษฐกิจ สมาชิกกลุ่มก็สามารถ ลดต้นทุนในการผลิตได้ จากการมีองค์ความรู้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เองไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีราคาแพง และมีการนำ ใช้สมุนไพรจากธรรมชาติทดแทนในการใช้สารเคมี ทำให้ลดต้นทุนการใช้ ย่าฆ่าหญ้า,ยาฆ่าแมลง,ปุ๋ยเคมี
ปี พ.ศ. 2556 สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำริ ในการนำข้าวไปวิเคราะห์ผลเพื่อตรวจสอบเรื่องสารปนเปื้อนตกค้าง ผลปรากฏว่า ข้าวของกลุ่มยังไม่ปลอดสารเคมี จึงต้องวางแผนหาแนวทางในการพัฒนาเรื่องคุณภาพข้าวของกลุ่มต่อไป
ปี 2558 เป็นต้นมา กลุ่มเริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวปลอดภัยเป็นการปลูกข้าวแบบอินทรีย์โดยมี ม. จุฬาฯ เป็นพี่เลี้ยงให้องค์ความรู้ /การให้แนวทางด้านการตลาด การพัฒนาเรื่องเพคเกจ มีการทำแปลงสาธิต เพื่อทดลองทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมซึ่งใช้พื้นที่ จำนวน 10 ไร่ ทดลองในช่วงปีระยะปี 2558-2559 เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการทำนาข้าวแบบอินทรีย์ ซึ่งมีเกษตรกรอาสา เช่น กำนันบุญช่วย สุทธะ ที่ใช้พื้นที่ในการลงมือทดลองทำเป็นชุดแรกของปฏิบัติการ
ปี 2560 ม.จุฬาฯ ได้เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของการรับรองมาตรฐาน มีการส่งข้าวเพื่อขอรับรองมาตรฐานผลผลิต ปรากฏว่าข้าวของกลุ่มมีผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่านมาตรฐาน จีเอพี (GAP )และผ่านมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานข้าวปลอดภัย ไม่สามารถได้มาตรฐานข้าวอินทรีย์ เนื่องจากพื้นที่ยังมีข้อจำกัด ในเรื่องแปลงโดยรอบเป็นแปลงเคมี การควบคุมคุณภาพน้ำ และแนวกันชนทางอากาศยังไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก
ปัจจุบัน มีการขยายผลการทำข้าวอินทรีย์เพิ่มเป็น 17 ไร่ เนื่องจากคนในชุมชนเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลงและตระหนักรู้เรื่องสุขภาพกันมากขึ้น อีกทั้งการทำข้าวอินทรีย์เป็นทางเลือกในการสร้างรายได้เนื่องจากกระแสการบริโภคอาหารที่ผลิตแบบอินทรีย์ที่มีแนวโน้มทางด้านการตลาดสูง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีคนอาสาที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการผลิตมากขึ้น
หลักคิดสำคัญของการดำเนินงาน คือ การความต้องการรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อช่วยเหลือกันในยามฉุกเฉิน และเพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้ การรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ชุมชน/ทรัพยากร ดิน น้ำ รวมถึงการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ ทั้งส่วนของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการลดการใช้สารเคมีภาคเกษตรของชุมชน ทำให้สุขภาพของคนในครอบครัวดีและมีข้าวที่ปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน
ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ
- การศึกษาเรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์น้ำท่วม
- การได้รับแนวคิดพระราชทานเรื่องเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์จากสมเด็จพระเทพฯ
- การร่วมกลุ่ม กองทุนข้าว
- การขยายผลจากระดับหมู่บ้านเป็น ตำบล (จาก 4 หมู่บ้านเป็นทั้งตำบล)
- การจัดตั้งคณะกรรมการโรงสีข้าวพระราชทานจำนวน 15 คน
- การทำกติกา ระเบียบของกลุ่ม การวางแผนการบริหารจัดการโรงสีข้าว
- การประชุมอย่างสม่ำเสมอ
- การศึกษาดูงาน การทำข้าวปลอดภัยที่จังหวัด พะเยา เชียงใหม่ บุรีรัมย์(แกนนำ4 คน)
- การทดลองปลูกแปลงสาธิตจากเกษตรกรอาสา
- การเชื่อมโยงหน่วยงานพี่เลี้ยงด้านองค์ความรู้ เช่น ม.จุฬาฯ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่
- การวางแผนทางด้านการตลาด ประสานหน่วยงานภาคี เช่น รร. รพ. ค่ายทหาร ร้านค้า
- การตรวจสอบคุณภาพและการทำมาตรฐาน GMP
- การติดตามผลการดำเนินงานและการสรุปผลการดำเนินงานประจำปี เทคนิค/ทักษะ
เทคนิคที่นำมาใช้
- การกันพื้นที่อินทรีย์ออกจากเคมี ทำการยกร่องสูง 1 เมตร กันน้ำจากแปลงแคมีเข้าพื้นที่
- ใช้การไถกลบตอซังและการปลูกปอเทืองเพื่อบำรุงดิน
- ใช้น้ำหมักชีวภาพก่อนการหว่านจำนวน 1 ครั้งเพื่อป้องกันแมลง
- ใช้กระแสด้านสุขภาพในการสร้างแรงกระตุ้นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต คนอยากกินข้าวปลอดภัยและกลัวโรคมะเร็ง
- การประชุมอย่างสม่ำเสมอและการมีกติกากลุ่ม
- ทำผลิตให้มีมาตรฐาน สร้างมูลค่าที่ความแตกต่าง และเพคเกจที่เป็นที่ต้องการของตลาด
กลไกการจัดการ
- คณะกรรมการโรงสีข้าวพระราชทาน จำนวน 15 คนจาก 12 หมู่บ้าน
- สภาองค์กรชุมชนเป็นวงในการปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
- อบต.สนับสนุนพนักงานและค่าตอบแทนพนักงานประจำโรงสีฯ
- ม.จุฬาฯและ และ การตลาด
- ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ และสถานีพัฒนาที่ดินสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวองค์ความรู้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และการบำรุงรักษาดิน
- บ.เลม่อนฟาร์มสนับสนุนการตลาดรับซื้อข้าวอินทรีย์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าคนในชุมชนมีความสามัคคี เรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และกลุ่มเองก็มีความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้นประเมินได้จากผลการตรวจเลือด ชุมชนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นลดการพึ่งพิงจากภายนอก มีความสามารถในการคัดเมล็ดพันธุ์การลดต้นทุนการผลิตได้ มีการพัฒนาด้านวิธีคิดและเกิดการขยายตัวขึ้น กลุ่มมีความรู้ในการผลิต การดูแลรักษาระบบนิเวศน์ กลุ่มมีกำลังใจในการทำข้าวอินทรีย์เพราะมีตลาดรองรับที่แน่นอน
นอกจากนั้นแล้วกระสังคมก็ได้มีการตื่นตัวเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ คนในสังคมตื่นรู้เรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรฯธรรมชาติและการพึ่งพาตนเอง คนในชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพเกษตรกรที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เกิดสวัสดิการในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม รวมไปถึงการมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนการดำเนินการ หนุนเสริมด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีความร่วมมือ
รูปธรรมความสำเร็จเชิงคุณค่า
ด้านเศรษฐกิจ
- ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวปลอดภัย/ข้าวอินทรีย์ มีความสามารถในการชำระหนี้
- ลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิต และค่ารักษาพยาบาล
- มีอาชีพรองรับคนในชุมชน เช่น พนักงานโรงสี
- มีตลาดรองรับผลผลิตมีช่องทางการตลาดที่มากขึ้น
- ข้าวของชุมชนถูกยกระดับให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ด้านสังคม
- คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดความร่วมมือ เกิดการเชื่อมโยงการทำงาน
- มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีการจัดสวัสดิการด้านเมล็ดพันธุ์เพื่อช่วยเหลือกันยามฉุกเฉิน
- คนในสังคมมีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพอนามัย การเลือกบริโภคอาหารปลอดภัย
- ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ โรคมะเร็ง ลดสารเคมีในร่างกาย สุขภาพดีขึ้น
- คนในสังคม ครอบครัวมีความสุข มีความเข้าใจกันมากขึ้น
ด้านทรัพยากร
- ฟื้นฟู การอนุรักษ์ดิน พื้นที่ทางการเกษตรให้มีดีขึ้น
- เกิดอาหารตามธรรมชาติในท้องนา เป็นการอนุรักษ์สัตว์และพืชน้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด พืชน้ำ
- ลดปริมาณสารเคมีในแหล่งน้ำของชุมชน
รูปธรรมความสำเร็จเชิงมูลค่า
สมาชิกกลุ่มมีรายได้จาก 6000 บาทต่อไร่เป็น 12000 บาทต่อไร่
- ลดต้นทุนการผลิตจากไร่ ละ2,000 บาท เหลือ 1,200 บาท
- มีต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียวคือ ค่าไถ จำนวน 1,200 บาทลดรายจ่ายได้ 800 บาท
- สามารถนำผลรายได้จากการประกอบการโรงสีข้าวชุมชนพระราชทานจ้างพนักงานเพิ่มได้เป็น 6 คนจากเดิม 4 คน
- ลูกจ้างประจำมีรายได้เดือนละ 5000 บาทต่อคน
- อบต.สนับสนุนการจ้างงานพนักงาน 4 คน คนละ 5000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตามยังต้องมีแนวทางและแผนงานที่จะต้องดำเนินการต่อในอนาคต คือ การขยายพื้นที่ ขยายสมาชิกให้เต็มตำบลทำข้าวปลอดภัย 500 ไร่ การดำเนินการพัฒนาศักยภาพเพิ่มความรู้ให้กับสมาชิก การขยายช่องทางการตลาดไปต่างจังหวัด การปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐานเพื่อใช้เองและจำหน่ายและขยายผลด้านการเรียนรู้สู่คนรุ่นใหม่/เยาวชน
โดย คณะทำงานจัดการองค์ความรู้ชุมชนตำบลศรีภูมิ นางสาวกรรณิการ์ วงศ์คำ นายกิตติศักดิ์ สุเดช
เจ้าขององค์ความรู้ นายบุญช่วย สุทธะ และคณะทำงานกลุ่มโรงสีข้าว