บทความโดย พอช.สำนักงานภาคใต้
สืบค้นตัวตนคนท่าโรงช้าง
ท่าโรงช้าง เดิมมีสถานะเป็นอำเภอ เป็นตำบลที่มีความเจริญมาช้านาน เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดของชุมชน ชาวบ้านได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำพุมดวงเพื่อการเพาะปลูกอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำชุกชม เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชน
บริเวณตำบลท่าโรงช้างในอดีตยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ สัตว์ป่า และพืชผักตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารแหล่งทำมาหากิน ที่บ่มเพาะเป็นภูมิปัญญาของชุมชนมาช้านาน และสืบทอดมาจนถึงปัจจุปัน รวมทั้งบริเวณท่าโรงช้างแห่งนี้ยังเป็นที่ “ลงช้าง” หรือ “เลี้ยงช้าง” ไว้เพื่อการชักลากไม้ที่ล่องมาตามแม่น้ำพุมดวง ทำให้เป็นที่รวมของทั้งผู้คน สินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนต่อกันของผู้คนจากทุกสารทิศ จึงเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า “ชุมชนท่าลงช้าง” และเพี้ยนมาเป็น “ท่าโรงช้าง” ในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2473 การเดินทางโดยรถไฟสายใต้มีความเจริญขึ้น โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานีรถไฟตั้งอยู่ที่อำเภอท่าข้าม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร มีทั้งที่ลงมาจากกรุงเทพและเส้นทางแยกไปอำเภอคีรีรัฐนิคม ทำให้ผู้คนหันมาค้าขายทางรถไฟมากขึ้น ท่าข้ามกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ในขณะที่ท่าโรงช้าง กลับมีความสำคัญลดลง อำเภอท่าโรงช้าง จึงถูกยุบเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าข้าม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอท่าข้ามเป็นอำเภอพุนพิน จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน ทิศเหนือจดตำบลหนองไทร ทิศใต้จดตำบลกรูด ทิศตะวันตกจดตำบลบางมะเดื่อ ซึ่งทั้งสามตำบลนี้เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญส่วนทิศตะวันออกจดตำบลท่าข้าม ซึ่งเป็นทั้งเขตเมือง และชนบทสลับกันไป
ท่าโรงช้าง มีภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงทางตอนเหนือซึ่งต่อเนื่องมาจากตำบลบางมะเดื่อ และอำเภอคีรีรัฐนิคมที่เป็นภูเขา และค่อยๆลาดต่ำลงไปทางทิศใต้และทิศตะวันตก ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร รับจ้าง และค้าขาย
ความเปลี่ยนแปลงมาเยือน
ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เศรษฐกิจในภาคใต้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการส่งเสริมการปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานียังเป็นเป้าหมายของการสร้างอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกับการเกษตรและประมง ทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมด้านยางพารา โรงงานหีบน้ำมันปาล์ม และโรงงานแปรรูปอาหารทะเลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้คนหนุ่มสาวทิ้งสวนทิ้งนา ไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้การทำการเกษตรแบบดั่งเดิมค่อยๆเลือนหายไป ยังคงเหลือเพียงการปลูกยางพารา และปลูกปาล์มน้ำมันเป็นส่วนใหญ่
การเติบโตทางเศรษฐกิจนี่เอง รัฐบาลจึงมีโครงการขยายถนนสาย 41 หรือ เพชรเกษมให้เป็นถนน 4 ช่องทางจราจร ตลอดเส้นทางสายใต้ กว่าพันกิโลเมตร เพื่อให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าและการจราจรทางบก ซึ่งการขนส่งทางรถไฟมีข้อจำกัด
การขยายถนนเพชรเกษมดังกล่าว ทำให้มีการเวรคืนที่ดินของราษฎร์จำนวนมาก ไม่มีข้อยกเว้นแม้บริเวณตลาดท่าโรงช้าง หากแต่ว่าบริเวณท่าโรงช้างนี้ ไม่เพียงถูกถนนเพชรเกษมตัดผ่านเท่านั้น แต่ยังมีโครงการสร้างเส้นทางแยกไปสู่จังหวัดฝั่งอันดามันอีกด้วย ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นสี่แยกขนาดใหญ่ หรือ ที่ชาวบ้านรู้จักในนาม “สี่แยก กม.18” นั่นเอง ส่งผลให้บริเวณสี่แยก กม.18 กลายเป็นชุมชนและย่านธุรกิจในเวลาต่อมา
หลังจากมีการสร้างถนนเพชรเกษมเสร็จลง ได้มีโรงงาน อาคารพาณิชย์ และการประกอบธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้นทั้งสองฝั่งถนนจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้บริเวณสี่แยก กม.18 มีความเจริญ มีผู้คนเข้ามาอาศัยและใช้เป็นทางผ่านเป็นจำนวนมาก ทำให้นายทุนซึ่งมีที่อยู่บริเวณนั้น พัฒนาเป็นตลาดให้ชาวบ้านเช่าขายของในราคาเช่าที่แพง จึงทำให้ชาวบ้านไม่ยอมไปเช่า แต่ยอมทนขายของในที่ว่างริมถนน ซึ่งเป็นของกรมทางหลวง ถึงแม้ว่ามีผู้ร้องเรียนถึงความไม่ปลอดภัยก็ตาม แต่การขายของก็เป็นไปตามวิถีชาวบ้าน ไม่มีการจัดระบบ ระเบียบ และยังไม่ได้รับความยินยอมจากกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าของที่แต่อย่างใด
ใช้วิกฤตเป็นโอกาส ก้าวสู่ตลาดสีเขียว
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การขายของในตลาดชุมชน กม.18 เป็นไปตามวิถีชาวบ้าน ขาดกฏกติกา จนมีผู้ร้องเรียนว่าไม่ปลอดภัยและสร้างขยะให้กับชุมชน แต่อย่างไรก็ตามตลาดแห่งนี้ ก็ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากมีอาชีพ และคนที่มีอาชีพรับจ้างหาเช้ากินค่ำได้ซื้ออาหาร จับจ่ายใช้สอยในราคาที่ถูกและเป็นธรรม
ในปี พ.ศ.2559 องค์กรชุมชนต่าง ในตำบลท่าโรงช้าง ซึ่งมีอยู่หลากหลาย เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน อส ม. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ได้รวมตัวกันจดแจ้งสภาองค์กรชุมชนท่าโรงช้างขึ้น จึงได้นำปัญหานี้ เข้าหารือในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล มีการวิเคราะห์ข้อดี ข้ออ่อน โอกาส ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตลาด กม.18 ให้ดีขึ้น
จากการหารือพบว่า ชาวบ้านในชุมชน มีการปลูกพืชอินทรีย์อยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นอาหารปลอดภัย แต่ยังมีตลาดที่จำกัด รวมทั้งมีพืชผักผลไม้ และสินค้าอื่นๆที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ หากมีตลาดรองรับ ประกอบกับพี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชน จากตำบลใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นบางมะเดื่อ ท่าข้าม กรูต ล้วนมีการประกอบอาชีพเกษตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก และยังขาดช่องทางเรื่องการตลาดเช่นกัน ดังนั้นในเรื่องของสินค้าจากชุมชนที่จะป้อนออกสู่ตลาดจึงมีไม่จำกัด
ประการถัดมาก็คือ ปัจจุบันประชาชนมีปัญหาเรื่องการบริโภคอาหารที่ปนเปื่อนสารเคมี มีการเจ็บป่วย ดังนั้น หากตลาดชุมชนเน้นเรื่องอาหารปลอดภัยก็จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ ประกอบกับการบริโภคอาหารปลอดสาร กำลังเป็นที่นิยมอีกทั้งตลาดตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลท่าโรงช้าง ซึ่งเป็นองค์กรที่หนุนเสริมอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว
ปัจจัยเอื้อที่สำคัญก็คือ ไม่เพียงที่ตั้งของตลาดอยู่บริเวณสี่แยกหลัก ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากเท่านั้น แต่บริเวณสองข้างถนนเพชรเกษมเป็นที่ตั้งของโรงงานหลายโรง ซึ่งคนงานของโรงงานล้วนเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็มีความสะดวกที่จะหาซื้ออาหารในราคาถูกและปลอดภัย
สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลหลายคนยังมีแนวคิดในการเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ให้เห็นได้ชัดเจนโดยอธิบายว่าในอดีต ตลาดท่าโรงช้างเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยวิถีชาวบ้าน สะท้อนความเป็นคนชนบทได้อย่างชัดเจน ดังนั้นไม่เพียงเน้นเรื่องความเป็นตลาดปลอดสารเท่านั้น แต่ควรเน้นความเป็นตลาดวิถีชุมชนได้อีกด้วย ผลิตโดยชาวบ้านขายโดยชาวบ้าน ที่ไม่เน้นผลกำไร แต่ทั้งคนผลิต คนขาย คนซื้อ อยู่ได้อย่างปลอดภัย พึ่งพาซึ่งกันและกัน
ส่วนในเรื่องของข้อจำกัดนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลเห็นว่า ต้องแก้ข้ออ่อน ซึ่งมีอยู่ไม่มากให้หมด เช่น ความไม่เป็นระเบียบ ความสะอาด ความปลอดภัย โดยต้องมีกฎระเบียบของตลาดพัฒนาตลาดให้เป็นระเบียบ มีที่รวมขยะ มีการกวดขันเรื่องสินค้า ที่นำมาขายว่าต้องแน่ใจว่าเป็นสินค้าปลอดสาร
หลังจากมีมติร่วมกันแล้ว ก็ได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับกรมทางหลวง ทำให้กรมเข้าใจ มั่นใจในเรื่องของความเป็นระเบียบความปลอดภัย (จากการจราจร) ทั้งของคนขายและคนซื้อ รวมถึงความสะอาดของตลาด ที่สำคัญพูดให้เข้าใจว่า ตลาดแห่งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในที่สุดก็ได้รับอนุญาติให้เป็นตลาดได้อย่างถูกต้อง
เปิดตลาดสีเขียววิถีชุมชน
หลังจากนั้นโครงการตลาดสีเขียวก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. จำนวน 30,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาตลาด เช่น การจัดระเบียบตลาด มีกติการ่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นสินค้าปลอดสาร มีที่รวบรวมขยะ ฯลฯ และที่สำคัญคนขาย จะต้องจ่ายค่าบำรุงเพียงเล็กน้อย เท่านั้น เพื่อนำไปพัฒนาตลาดต่อไป ซึ่งกติกาเหล่านี้ ล้วนมาจากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนตำบลกับผู้ค้า ซึ่งเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน
ในการดำเนินงาน สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าโรงช้าง ได้อาศัยตามมาตรา 23 แห่ง พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาตลาดท่าโรงช้าง” ขึ้น ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนตำบล ตัวแทนจากผู้ค้า ตัวแทนจากผู้ซื้อ และตัวแทนจากกลุ่มองค์กรภาคเอกชน ฯลฯ ร่วมเป็นกรรมการ รับผิดชอบบริหารและพัฒนาตลาดไปสู่เป้าหมาย
เกณิกา ทิพย์บรรพต ผู้ประสานงานชุมชน เล่าว่า ตลาดชุมชนท่าโรงช้าง เรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยพ่อ เราทำเพื่อถวายให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 คนขายก็คือคนผลิต หรือลูกหลานของคนผลิต คนซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นผู้มีรายได้น้อยคนในชุมชน คนสัญจรไปมา เราสร้างอาหารและของใช้ปลอดภัย ไม่เบี่ยดเบียนใคร ไม่เบี่ยดเบียนธรรมชาติ ทุกคนอยู่ได้อย่างเอื้ออาทรต่อกัน
“ในตลาดแห่งนี้ เราได้พูดคุยพบปะ ถามสารทุกข์สุขดิบต่อกัน ทุกคนมีแต่รอยยิ้ม และได้ของถูกและปลอดภัยกลับไป” เกณิกา เล่า
อย่างไรก็ดี โจทย์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของตลาดท่าโรงช้างก็คือ การประชาสัมพันธ์ ให้สังคมได้รับรู้ว่าเราเป็นตลาดปลอดสาร เราเป็นที่รวมของความเอื้ออาทรแบบพี่น้อง ไม่ใช่สถานที่ประกอบธุรกิจที่หวังแต่กำไร คือ เราต้องการบอกคุณค่าเหล่านี้ให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณเราก็ทำได้เพียงสื่อสารทางสื่อออนไลน์ให้เครือข่ายได้รับรู้ และสื่อในท้องถิ่นก็ให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา นับเป็นกฤษ์ดีที่ทั้งกรรมการ ผู้ค้า ผู้ผลิต ได้ร่วมกันเปิดตลาดปลอดสารวิถีชุมชนคนท่าโรงช้าง ขึ้น นั่นหมายถึงว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้เริ่มขึ้น เป็นการเริ่มต้นการทำงานที่ต้องทำไปปรับปรุงไป พัฒนาไป ภายใต้แนวทางพึ่งพาเอื้ออาทร
เกณิกา ทิพย์บรรพต เล่าให้ฟังว่า แรกๆสินค้าก็จะเป็นพวกผักปลอดสาร ผลไม้ปลอดสาร สินค้าแปรรูป และสินค้าสดๆจากชุมชนท่าโรงช้าง และตำบลบางมะเดื่อ ซึ่งอยู่ใกล้เคียง มีอาหารสำเร็จรูปบ้างแต่ยังไม่มากนักรวมทั้งอาหารเครื่องดื่มที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เร่งรีบแต่จะค่อยๆทำไป พัฒนาไป
แน่นอนว่าตลาดแห่งนี้ จะทำให้ชาวบ้านสามารถนำสินค้าจากชุมชน มาขายยังผู้บริโภคได้โดยตรงเป็นการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนคนจะหนาแน่นในช่วงเวลาเช้าๆ และช่วงเย็น ชาวบ้านมีกำลังใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้อาหารที่ปลอดภัย เกิดผลดีต่อสุขภาพ
เป้าหมายข้างหน้าคุณค่าอยู่ที่การเรียนรู้
ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในลักษณะของความร่วมมือแบบประชารัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือต่อกัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง เป็นการสนับสนุนความรู้ความสามารถในการนำทุนที่มีอยู่ในชุมชนไปสร้างงานสร้างอาชีพรายได้ ให้กับคนฐานรากในชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งแนวทางเช่นนี้ไม่เพียงจะแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการจัดการตนเองด้านเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน อีกด้วย
เกณิกา ทิพย์บรรพต เล่าให้ฟังว่า ตลาดของเราเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่ถึงปี สิ่งที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ทำให้ผู้ผลิต มีความมั่นใจ เพราะมีตลาดเป็นของตนเองมีที่ขายเป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่ต้องมีปัญหากับกรมทางหลวง สิ่งที่จะตามมาก็คือ อาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น ผู้บริโภคก็ได้อาหารที่ปลอดภัย
ส่วนในระดับชุมชนนั้น มันทำให้ชุมชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการทำงาน ทั้งระบบการบริหารจัดการตลาด และการจัดการกลุ่มในชุมชน ซึ่งเป็นฐานผลิต เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มแปรรูป เป็นต้น รวมทั้งยังทำให้กลุ่มองค์กรชุมชนทั้งหมดได้มีเวทีในการทำงาน อาสา หนุนเสริม เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน ซึ่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่ามูลค่าที่เกิดจากตลาดเสียอีก
ไม่เพียงการหนุนเสริมกลุ่มผู้ผลิตในตำบลให้มีตลาดที่แน่นอนในการขายสินค้าเท่านั้น ยังพบว่ากลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนจากตำบลใกล้เคียง เช่น กลุ่มเลี้ยงปลาจากบางมะเดื่อ ฯลฯ ก็ยังได้เข้ามาร่วมอยู่ในตลาดนี้ด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีอีกสองแผนงานที่จะทำร่วมกัน คือ การเชื่อมโยงสินค้าจากเครือข่ายอื่นๆ ในสุราษฎร์ธานีมาสู่การแลกเปลี่ยน ซื้อขายหมุนเวียนกันในทุกตลาดที่มีอยู่ และสร้างให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการตลาดชุมชนในที่ต่างๆในสุราษฎร์ธานี เพื่อนำประสบการณ์บทเรียนที่ได้รับจากเพื่อนๆไปสู่การพัฒนายกระดับตลาดของตนเองให้มีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น
บทสรุป
กรณีตลาดชุมชนท่าโรงช้าง แม้ไม่ใช่ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีตัวเลขสูง แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นที่เป็นความพยายามขององค์กรชุมชนที่ต้องการแก้ปัญหาของตนเอง โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำปัญหา ข้อดีข้อด้อยและโอกาสต่างๆ ไปสู่การวางแผน แสวงความร่วมมือ เป็นการทำงานบนฐานข้อมูลที่เป็นจริง ปัญหาที่เป็นจริง และมีแนวทางชัดเจน มีจุดขายที่ชัดเจน จึงเป็นหลักประกันได้ว่าจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นตลาดที่ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่เอาประโยชน์ของชาวบ้าน ผู้บริโภค เป็นตัวตั้ง ยึดหลักของความพอเพียง เอื้ออาทร และดำรงไว้ซึ่งวิถีของชุมชน จากสิ่งเหล่านี้จึงทำให้ตลาดมีจุดยืนที่ชัดเจนเรียบง่าย และยังสร้างช่องทางเชื่อมโยงกับชุมชนและตลาดอื่นๆในวงกว้างออกไปอีกด้วย
ดังนั้น แนวทางด้านการตลาดชุมชนของสถาบัน จึงไม่จำเป็นต้องมองที่มูลค่าเสมอไป ความสำเร็จอาจวัดได้หลายอย่าง ทั้งมูลค่าและคุณค่า ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่
หมายเหตุ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นางเกณิกา ทิพย์บรรพต
เครือข่ายองค์กรชุมชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เบอร์ติดต่อ 062-0677499