โดย สภาองค์กรชุมชนตำบลทับสะแก
ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก เป็นหนึ่งในเจ็ดตำบลรูปธรรมเศรษฐกิจและทุนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ปี 2561 เนื่องด้วยประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าวเป็นหลัก เมื่อประสบปัญหาผลผลิตมีราคาตกต่ำทำให้ประสบปัญหาเศรษฐกิจทั้งตำบลตามไปด้วย ในปี 2559 สภาองค์กรชุมชนตำบลทับสะแก และกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันหาทางออกเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพของตำบลเพื่อนำมาวางแผนและพัฒนาแก้ไขปัญหาในชุมชน นำมาสู่แนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการแปรรูปมะพร้าวแบบครบวงจรในปี 2560 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรบริหารส่วนตำบลทับสะแก จำนวน 100,000 บาท ต่อมาในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มในเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาตำบล
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการแปรรูปมะพร้าวแบบครบวงจร มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 6 หมู่บ้าน รวม 250 คน สมาชิกได้รับความรู้ และการพัฒนาศักยภาพจากหน่วยงานภาคีหลายฝ่าย และได้ทดลองปฏิบัติการแปรรูปมะพร้าวแบบครบวงจรได้สำเร็จสามารถเพิ่มมูลค่ามะพร้าวได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว กล่าวคือ เดิมชาวสวนมักขายมะพร้าวให้กับพ่อค้าคนกลางทั้งลูกในราคาลูกละไม่เกิน 3 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปเองสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากถึงลูกละ 100 – 200 บาท จากการนำเปลือกมาสับขาย นำกะลาดิบมาเผาไฟ ทำถ่านอัดแท่ง บางส่วนนำมาแปรรูปเป็นลูกปัดกะลา พวงกุญแจ กำไล โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่วนเปลือกที่อยู่ระหว่างกะลาและเนื้อมะพร้าว ใช้เป็นส่วนผสมของหัวอาหารสัตว์ เนื้อมะพร้าวส่งขายโรงงานเพื่อนำไปผลิตกะทิกล่อง และน้ำผลิตเป็นวุ้นมะพร้าว
ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากมะพร้าวจึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการทำแผ่นไม้อัดจากกะลา ซึ่งมีความแข็งแรงและทนทานมากกว่าไม้อัดทั่วไป สามารถขายได้ในราคาแผ่นละ 180 บาท ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรไม้อัดกะลามะพร้าวจากพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในอนาคตมีแผนการเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ส่งเสริมการใช้วัสดุและภูมิปัญญาจากท้องถิ่น
ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในพื้นที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวแบบครบวงจรได้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้หลายพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงาน ได้เป็นต้นแบบการเรียนรู้จากธนาคาร ธกส. และ กศน. ในการแปรรูปมะพร้าวแบบครบวงจรที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในตำบล มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 7,000 บาท ต่อเดือน และคณะกรรมการของกลุ่มได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ ให้มีส่วนเข้าไปเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดด้านการจัดการพืชสวน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลทับสะแก สนับสนุนงบประมาณกิจกรรมตามแผนและบรรจุเข้าแผนงานโครงการในการพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมกลุ่มพัฒนาบทบาทสตรี และแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, กศน. สนับสนุนวิทยากรให้ความรู้ตามแผนพัฒนาตำบล และวิทยากรเรื่องการแปรรูปมะพร้าว,อุตสาหกรรมจังหวัด สนับสนุนเครื่องมือการประกอบอาชีพตามแผนพัฒนาตำบล เครื่องจักรและเครื่องมือในการประกอบอาชีพและแปรรูป, พัฒนาชุมชน จัดหานักวิชาการให้ความรู้และความเข้าใจในการส่งเสริมการแปรรูปความรู้และส่งเสริมกลุ่มองค์กร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าการแปรรูปมะพร้าวแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ยังเป็นเรื่องใหม่ เกษตรกรบางส่วนยังไม่เข้าใจมองเป็นเรื่องยุ่งยาก คุ้นชินกับการส่งขายเป็นลูกเพราะง่ายและสะดวกกว่า ประกอบกับเครื่องมือและอุปกรณ์ในการดำเนินการมีราคาค่อนข้างสูง จึงต้องมีการทำงานและบริหารเป็นระบบกลุ่มองค์กร ซึ่งเกษตรกรบางรายยังมองเป็นเรื่องยุ่งยาก ดังนั้น จึงมีแนวทางในการพัฒนาต่อ คือ ส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นกับเกษตรกรที่ยังไม่เข้าร่วม และเชื่อมโยงกับงานพัฒนาด้านอื่น เช่น การท่องเที่ยวโดยชุมชน