นักสื่อสารจัดการความรู้ จังหวัดสมุทรสงคราม
จากการบอกเล่าตำบลบางนกแขวกก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ในสมัยก่อนรัชการที่ 4 มีการขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เพื่อการขนถ่ายสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคเข้าสู่พระนคร ดังนั้น บริเวณปากคลองบางนกแขวกจึงเป็นตลาดนัดทางเรือ ส่วนด้านในบริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร เป็นสถานที่ตั้งประตูน้ำบางนกแขวก ที่นักเดินเรือมักมาพักเพื่อรอระดับน้ำขึ้น บริเวณนี้จึงกลายเป็นตลาดประตูน้ำบางนกแขวก มีชื่อที่เรียกติดปากชาวบ้านสมัยนั้นว่า “ชุมชนหลักแปด” เพราะคำว่า “หลัก” ใช้เรียกแทนหลักกิโลเมตร ตามที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน
ก่อนปี พ.ศ. 2500 ในร่องสวนผลไม้ชาวบ้านนิยมปลูกข้าวไว้สำหรับรับประทานในครัวเรือน และบริเวณตลาดร้อยปีปากคลองบางนกแขวกมีศาลพ่อปู่ตั้งอยู่ ด้านหลังตลาดร้อยปีปากคลองบางนกแขวกมี โรงงิ้ว และซอยโรงฝิ่นเพื่อเป็นทางเข้า – ออกจากหน้าตลาดสู่หลังตลาด มีโรงหนัง โรงปั่นไฟฟ้า ซึ่งเป็นของชาวตลาดร้อยปีปากคลองบางนกแขวกเอง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตำบลบางนกแขวกได้อยู่ในเส้นทางลำเรียงเสบียงและอาวุธของฝ่ายทหารญี่ปุ่น เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดลงบริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร แต่ระเบิดเกิดด้าน ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต และได้เก็บหัวของลูกระเบิดไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เยี่ยมชม
วัดเจริญสุขารามวรวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ทางด้านโชคลาภ และการรักษาโรค เป็นพระประธานในพระอุโบสถที่สร้างด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ภายในโบสถ์ที่มีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ด้านข้างเป็นวิหารที่จำลองมาจากปราสาทพระเทพบิดร บริเวณหน้าวัดมีอุทยานวังมัจฉาเป็นแหล่งปลาชุกชุม
นอกจากนี้ยังมีอาสนวิหารแม่พระบังเกิด เป็นอาสนวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคของฝรั่งเศส ภายในอาสนวิหารมีศิลปกรรม คือ กระจกสี รูปปั้น ธรรมาสเทศน์แบบคริสต์ อ่างล้างบาป ขาเทียนต่างๆ และรูปแกะสลักบรรยายเกร็ดประวัติในพระคัมภีร์คริสต์ ปัจจุบันได้มีตลาดนัดกางร่มยามบ่ายในวัน อังคาร – วันอาทิตย์ ที่ลานด้านหลังวัดคริสต์
นอกจากนี้ยังมีวัดโพธิ์งาม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง มีภูมิทัศน์ที่ร่มเย็น มีศาลศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น ศาลย่านาค และมีแพสำหรับให้ประชาชนทั่วไปได้ชมพันธุ์ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ
จากการที่ได้รวบรวมข้อมูลของสภาตำบลออกมาทำให้รู้ว่านอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวเก่าแก่ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย จนสามารถนำมาสร้างรายได้ให้กับชาวตำบลบางนกแขวกเพิ่มขึ้นและส่งต่อคนรุ่นหลังได้ สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่ การทำกระทงขนมเข่งใบตองแห้ง และการหลาวไม้กวาด แต่เนื่องด้วยในตำบลบางนกแขวกมีผู้สูงอายุมากกว่าเป็นคนวัยทำงานและวัยเด็ก ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันได้ยาก ส่วนมากมักจะทำเป็นงานอดิเรกยามว่างตามบ้านใครบ้านมัน สภาองค์กรชุมชนตำบลบางนกแขวกจึงมีแนวความคิดว่าน่าจะจัดการให้ผู้สูงอายุได้ร่วมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างการต่อรองในการขายหรือส่งใบตองแห้ง ไม้กวาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นกว่าการทำเดี่ยวขายเดี่ยว ส่วนด้านการแปรรูปทางมะพร้าว ได้มีการส่งเสริมเพิ่มจากการหลาวทางมะพร้าวจำหน่ายเพียงอย่างเดียวก็นำมาสานทำเป็นภาชนะใช้สอยจากธรรมชาติ เช่น กระจาด ถาด ซึ่งพบว่าเป็นที่สนใจและสามารถถ่ายทอด ต่อยอดจากการทำไม้กวาดเพิ่มขึ้นได้
จากการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาพบว่าสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ด้วยดีนั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของคนในชุนชน ซึ่งได้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วม เพราะทุกคนในชุมชนต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและมีกิจกรรมอีกทั้ง โครงการพัฒนาทักษะอาชีพทำให้เกิดการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย รวมถึงส่งผลให้คนภายนอกรวมทั้งนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปลูกจิตสำนึกและมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ทำให้ไม่ขาดการสืบต่อภูมิปัญญาจากการที่ทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กและเยาวชน และกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวในชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจที่สามารถขยายให้เกิดการเรียนรู้ไปยังกลุ่มอื่นๆ จึงทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเดือนละหลายพันบาท รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น กศน. มาร่วมพัฒนาส่งเสริมการฝึกอาชีพ และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชนให้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ทั้งท้าทายและสร้างโอกาสการพัฒนาในชุมชนไปพร้อมๆ กัน คือ ประชาชนในตำบลบางนกแขวกยังความขาดรู้ ความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน เพราะคิดว่าสิ่งต่างๆ มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นมีบางอย่างที่คงอยู่และบางอย่างได้หายไป เพราะขาดการดูแลและสนับสนุน ส่วนด้านที่อยู่อาศัยภายในตำบลบางนกแขวกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าโดยเฉพาะในเขตแหล่งท่องเที่ยวของตำบล ส่วนแหล่งท่องเที่ยวบางส่วนเป็นพื้นที่เฉพาะกิจทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ตลอดเวลา
คณะกรรมการตำบลได้ทราบข้อมูลปัญหาของตำบลบางนกแขวกเป็นอย่างดี ขณะที่บางพื้นที่พบว่าผู้คนในชุมชนก็ให้ความสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของตำบล จากการพูดคุยทำให้เกิดความเข้าใจจึงให้ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นจนเกิดการรวมกลุ่ม และคณะกรรมการที่เข้มแข็งนำมาสู่การได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกของตำบล เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรสงคราม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ เช่น การสร้างความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนให้กับประชาชนในพื้นที่ รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สูญหาย การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น