วิสัยทัศน์จังหวัดอำนาจเจริญ “เมืองธรรมเกษตร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางสู่การค้าสากล”
“เมืองธรรมเกษตร” หมายถึง เมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ อยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาค เสมอธรรม ดำรงวิถีเกษตรอินทรีย์ มีการศึกษาที่เกื้อหนุน บุญฮีตคองนำชีวิตให้มั่นยืน ซึ่งมีคุณลักษณะ 7 ประการ คือ 1) เป็นธรรม 2) ไม่เบียดเบียน 3) พึ่งพาและแบ่งปัน 4) เสมอภาค เสมอธรรม 5) มีจิตสำนึกสาธารณะ 6) มีความพอเพียง 7) มีวัฒนธรรมอันดีงาม
งานพัฒนาบ้านแปงเมืองของภาคประชาชนมีมายาวนาน แต่จุดพลิกผันที่ทำให้มีจุดยืนที่เข้มแข็ง คือ พรบ.สภาองค์ชุมชนตำบล พ.ศ.2551 ทำให้เครือข่ายพัฒนาบ้านของชาวบ้านอยู่บนกรอบของกฎหมาย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ก็เป็นพี่เลี้ยงในการก้าวเดินอย่างมั่นคง ด้วยกิจกรรมพัฒนาต่อเนื่องและที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต บนความต้องการของชุมชนผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล ไม่ว่าจะเป็นโครงการสวัสดิการชุมชน โครงการทุนชุมชน
โครงการบ้านมั่งคง และโครงการบ้านพอเพียงชนบท
จังหวัดอำนาจเจริญ แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 56 ตำบล 607 หมู่บ้าน 30 ชุมชน มีประชากร 376,382 คนแยกเป็นชาย 188,104 คน หญิง 184,278 คน จำนวนครัวเรือน 109,506 ครัวเรือน โดยพื้นที่ในชุมชนมีประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยและที่ดิน ทั้งบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้วมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง ไม่ได้ปรับปรุง ซ่อมแซม บ้านเรือนประสบภัย และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ
โครงการบ้านพอเพียงชนบท ที่ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ นำสู่สภาองค์กรชุมชนตำบล บนคุณลักษณะ 7 ประการของเมืองธรรมเกษตร โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้รับการจัดสรรจาก พอช.จำนวน 100 หลังคา ลงในพื้นที่ 4 ตำบล และในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 150 หลังคา ลงในพื้นที่ 10 ตำบล
“เงิน 19,000 บาทจะซ่อมอะไรได้?”
โครงการบ้านพอเพียงชนบทมีงบสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 19,000 บาท แม้ว่าจะเป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก และด้วยงบประมาณที่มีจำกัด หลายตำบลหลายพื้นที่ที่มีโครงการนี้จึงต้องคิดค้นวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณที่จะได้รับมาไม่หมดไป รวมทั้งยังสามารถนำกลับไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนในตำบลได้อีก
นายวิรัตน์ สุขกุล คณะกรรมการขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ เล่าว่า ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ แบ่งการทำงานเรื่องบ้านพอเพียงชนบทออกเป็นอำเภอ มีแกนประสานในแต่ละอำเภอ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่ละตำบลเป็นเวทีในการดำเนินโครงการ ซึ่งก่อนที่จะทำโครงการก็ได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อทำความเข้าใจกับโครงการ หลังจากนั้นจึงกลับมาประชุมแกนประสานเพื่อ
สร้างความเข้าใจ มีการจัดเวทีทำความเข้าใจโดยเอาตำบลที่จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนแล้วมาทำความเข้าใจว่า โครงการบ้านพอเพียงชนบทคืออะไร มีขั้นตอนเป็นอย่างไร เช่น ต้องทำการสำรวจข้อมูลผู้ที่เดือดร้อน ผู้ที่ยากจน บ้านเรือนทรุดโทรม ฯลฯ งบประมาณที่สนับสนุนให้มาเป็นแบบไหน หลังคาเรือนละเท่าไร ตำบลหนึ่งไม่เกินกี่ครัวเรือน พอทำความเข้าใจเสร็จ ทุกตำบลก็กลับไปสำรวจข้อมูลตัวเอง เสร็จแล้วจึงนำข้อมูลมานั่งคุยกัน แล้วมาเรียนรู้เรื่องการเขียนโครงการเพื่อเสนองบประมาณจาก พอช.
“โครงการบ้านพอเพียงนี้ เราไม่ได้ช่วยเหลือหรือให้เงินชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะให้คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลนั้นๆ สำรวจข้อมูลว่าบ้านที่จะได้รับการช่วยเหลือมีกี่หลัง จะซ่อมแซมอะไรบ้าง เช่น เปลี่ยนหลังคาที่ผุพังกี่แผ่น ซ่อมฝาบ้าน ใช้ไม้ ใช้วัสดุอะไร จำนวนเท่าไหร่ ปูนกี่ถุง รวมเป็นราคาเท่าไหร่ ใช้วิธีสืบราคาดูจากหลายร้านๆ แล้วสั่งซื้อวัสดุส่งไปให้บ้านที่จะซ่อมแซม โดยแต่ละตำบลจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น ฝ่ายสืบราคา ฝ่ายตรวจรับวัสดุ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายช่าง เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใส ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือจริง” นายวิรัตน์ อธิบาย
ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่เดือดร้อนและสมควรได้รับความช่วยเหลือนั้น วิรัตน์บอกว่า แต่ละตำบลจะกำหนดกติกาเอง เช่น ต้องมีฐานะยากจนและต้องอาศัยอยู่ในตำบลนั้นอย่างน้อย กี่ ปี จึงจะมีสิทธิ์เข้าโครงการ และการช่วยเหลือก็จะมี 2 แบบ
แบบที่หนึ่ง คือ ‘ให้เปล่า’ สำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ คนพิการ ไม่มีญาติพี่น้องดูแล ฯลฯ โดยผู้ที่จะได้รับการช่วยแบบให้เปล่าจะต้องผ่านการประชาคมจากหมู่บ้าน เมื่อประชาคมหมู่บ้านให้ความเห็นชอบแล้วจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อกลั่นกรองให้ได้ผู้ที่เดือดร้อนและสมควรให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่าจริงๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านแบบให้เปล่านี้ คนในชุมชนจะช่วยกันลงแรง ลงขันสร้างบ้านให้ หากขาดเหลือวัสดุก่อสร้างใดๆ คนในชุมชน รวมทั้ง อบต.หรือเทศบาลอาจจะช่วยกันสมทบเงินหรือจัดหาวัสดุมาให้
แบบที่สอง คือ “ต้องชำระคืน” สำหรับผู้เดือดร้อนทั่วไปที่มีฐานะยากจน แต่มีกำลังความสามารถที่จะสมทบเงินกลับคืนเข้าสู่กองทุนได้ โดยแต่ละตำบลจะมีการจัดตั้ง ‘กองทุนบ้านพอเพียงตำบล….’ ขึ้นมา ผู้ที่ได้การช่วยเหลือจะต้องออมเงินเข้ากองทุนเดือนละกี่บาท เมื่อซ่อมบ้านเสร็จแล้วจะต้องสมทบเงินกลับคืนเข้ากองทุนเดือนละกี่บาท ตามที่ได้รับการช่วยเหลือไป เช่น ได้รับการช่วยเหลืองบประมาณซ่อมบ้านหลังละ 19,000 บาท จะต้องสมทบคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาทจนครบ 19,000 บาท เพื่อนำเงินนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ต่อไป
“กองทุนบ้านพอเพียงเพื่อความยั่งยืน”
โครงการบ้านพอเพียงชนบทในจังหวัดอำนาจเจริญ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบันนี้มีพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว 17 ตำบล รวมทั้งหมด 250 ครัวเรือน โดยมีพิธีมอบ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ให้แก่ประชาชนในแต่อำเภอ โดยทำพิธีมอบในวันที่มีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในอำเภอนั้นๆ
นายบรรจง สุระวงค์ คณะกรรมการขบวนองค์กรชุชมจังหวัดอำนาจเจริญ และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาจิก กล่าวว่า “ตอนแรกที่มีโครงการบ้านพอเพียง พอรู้ว่ามีเงินช่วยเหลือเพียงหมื่นเก้า หลายคนบอกไม่เอาหรอก จะเอาไปทำอะไรได้ ผู้นำพูดอย่างนี้ทุกคนเลย ผมก็พยายามยกตัวอย่างให้ผู้นำเข้าใจว่า อย่างคนเป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็น ส.ท.หรือ อบต. พวกนี้ฐานะค่อนข้างดี เขาก็จะไม่เดือดร้อน แต่ว่าเงินหมื่นเก้า สำหรับคนจน คนที่เดือดร้อน มันมีความสำคัญมาก เงินหมื่นเก้าช่วยเขาได้เยอะ บางบ้านหลังคาหลุด หลังคารั่ว
ฝาบ้านแตก พอฝนตกก็เปียกปอนกันทั้งบ้าน พอเงินหมื่นเก้ามาได้หลังคาใหม่เลย ได้ฝาผนังบ้านมาอีกแถบหนึ่ง อย่างนี้มันก็ช่วยเขาได้เยอะ เพราะจะหาเงินก้อนทีเดียวมาหมื่นเก้าก็คงหาไม่ได้”บรรจง ยกตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านพอเพียงชนบท แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์แบบให้เปล่าสำหรับคนที่ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่ดีขึ้น เหมาะสมกับการอยู่อาศัย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโครงการบ้านพอเพียงชนบทนี้ยังสามารถต่อยอดหรือพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ ในตำบลได้อีก ไม่ใช่มีลักษณะแบบการทุ่มงบประมาณลงมาในพื้นที่ เมื่อหมดเงิน หมดงบประมาณแล้ว โครงการก็จบลงไป
ดังเช่นที่ตำบลนาจิก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งได้จัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาบ้านพอเพียงตำบลนาจิก’ ขึ้นมา โดยให้ผู้ที่ได้การช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านจะต้องออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท เมื่อซ่อมบ้านเสร็จแล้วจะต้องสมทบเงินกลับคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ตามที่ได้รับการช่วยเหลือไป เช่น ได้รับการช่วยเหลืองบประมาณซ่อมบ้านหลังละ 19,000 บาท จะต้องสมทบคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาทจนครบ 19,000 บาท เพื่อนำเงินจากกองทุนนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
นายบรรจง สุระวงค์ ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาจิก ซึ่งใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียง และจัดตั้งกองทุนบ้านพอเพียงขึ้นมา บอกว่า ตำบลนาจิกมีชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านพอเพียงทั้งหมด 15 ราย ใช้งบซ่อมบ้านรายละ 19,000 บาท แต่ทุกรายจะต้องออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท และสมทบเงินค่าซ่อมบ้านกลับเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ทำให้แต่ละเดือนจะมีเงินเข้ากองทุนประมาณเดือนละ 19,000 บาท
“ตอนนี้กองทุนมีเงินประมาณสองแสนบาท และจะนำเงินกองทุนนี้ไปช่วยเหลือชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนต่อไปอีก คิดว่าคงจะช่วยได้อีกประมาณ 2 ครอบครัว รวมทั้งจะทำให้กองทุนนี้ยั่งยืนคู่กับตำบลนาจิกต่อไป และจะไม่ทำเฉพาะเรื่องบ้านเท่านั้น” บรรจงพูดถึงอนาคตของกองทุน
นอกจากกองทุนบ้านพอเพียงแล้ว ที่ตำบลนาจิกยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้การช่วยสมาชิกกองทุน เช่น กรณีเกิด รับขวัญเด็กเกิดใหม่ 500 บาท มารดานอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100 บาท คนเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100 บาท ไม่เกิน 10 คืนต่อ 1 ปี สมาชิกเสียชีวิตช่วยเหลือตามระยะเวลาเป็นสมาชิก ฯลฯ ขณะนี้มีสมาชิกประมาณสองพันกว่าคน สมาชิกต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 360 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 2,000,000 บาทเศษ
“สำหรับสมาชิกกองทุนบ้านพอเพียงที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการ เราจะชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการด้วย แม้ว่าเงินช่วยเหลือจะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นกองทุนเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยกันแบบพี่แบบน้อง ส่วนคนที่ด้อยโอกาส กองทุนก็จะให้เป็นสมาชิกฟรี ไม่ต้องสมทบเงินรายปี ตอนนี้ในตำบลเรามีสมาชิกประเภทนี้ 50 คน” บรรจงพูดถึงการเชื่อมโยงกองทุนบ้านพอเพียงไปสู่กองทุนสวัสดิการ
เช่นเดียวกับที่ตำบลสร้างนกทา อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีโครงการบ้านพอเพียงชนบทและมีการจัดตั้ง ‘กองทุนแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยตำบลสร้างนกทา’ ขึ้นมา
นายเข็มพร ธรรมรักษ์ แกนนำในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียง และในฐานะสารวัตรกำนันตำบลสร้างนกทา เล่าว่า กองทุนนี้เกิดจากพี่น้องที่มีบ้านเรือนทรุดโทรมที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านพอเพียงจำนวน 26 ราย มาร่วมกันออมทรัพย์ครอบครัวละ30 บาทต่อเดือน และสมทบเงินกลับคืนเข้าสู่กองทุนแก้ไขปัญหาที่ดินฯ เดือนละ 250 บาท ตอนนี้มีสมาชิกใหม่มาสมัครเข้ากองทุนประมาณ 20 ราย มีเงินทั้งหมดประมาณ 80,000 บาท
“เงินที่เราสนับสนุนซ่อมบ้านไปนี้ คนที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วก็จะชำระคืนกลับมาเข้ากองทุน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในงวดต่อๆ ไป
ซึ่งตอนนี้เรามีประมาณ 30 ครัวเรือนที่รอรับการช่วยเหลือ ก็จะได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดภายใน 6 ปีจากกองทุนนี้ เพราะทุกๆ เดือนจะมีการคืนเงินกลับมาสู่กองทุน เป็นการช่วยเหลือกัน เอาผู้ที่เดือดร้อนมาออมร่วมกัน สนับสนุนกันให้เป็นกองทุนใหญ่เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ หรือผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว ถ้าหากว่าบ้านทรุดโทรมหรือเสียหาย ก็สามารถกลับเข้ามาใช้เงินจากกองทุนได้อีก” สารวัตรเข็มพรบอก และว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่เดือดร้อนหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้าน หากจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนก็สามารถทำได้ เมื่อยามเดือดร้อนก็สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ได้ นอกจากนี้ กองทุนยังนำเงินไปช่วยเหลือสมาชิกด้านอาชีพ เช่น กู้ไปหมุนเวียนค้าขาย หรือกู้ฉุกเฉิน ในยามเจ็บป่วยหรือเดือดร้อนเร่งด่วน โดยกองทุนจะกันเงินเอาไว้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินทั้งหมด แล้วนำมาให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืมไม่เกินรายละ 3,000 บาท มีสมาชิกกู้ยืมไปแล้ว 5 ราย โดยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูก คือร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน
นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ต่อยอดมาจากโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งไม่ใช่เป็นการให้งบประมาณมาแบบให้เปล่า เมื่อหมดเงิน หมดงบประมาณ โครงการก็จบลงไป แต่สามารถขยายผลไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อน หรือต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ในชุมชนต่อไปได้
บทความโดย ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และพอช.อีสาน