โครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 โดยรัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สงวนหวงห้ามของรัฐ การไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 จังหวัดมุกดาหาร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 52 ตำบล ปัจจุบันมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 จำนวน 51 ตำบล และกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 46 ตำบล ในปี 2561 เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดมุกดาหารได้มีการสำรวจ ข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 32 ตำบล มีจำนวนครัวเรือนผู้เดือดร้อน 404 ครัวเรือน สภาพปัญหาของผู้เดือดร้อนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เนื่องจากเป็นผู้ยากจนไม่มีทุนในการซ่อมแซม ทางขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหารได้มีกระบวนการในการคัดเลือกผู้เดือดร้อนจำนวน 150 ครัวเรือนเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ในปี 2561
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- สภาองค์กรชุมชนตำบลในเขตพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในตำบล จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหา
- รวบรวมข้อมูล จำนวนผู้เดือดร้อน โดยมีข้อมูลจาก สภาองค์กรชุมชนตำบล สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (จปฐ.) ข้อมูลการสำรวจของเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ ข้อมูลผู้ด้อยโอกาสจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมุกดาหาร
- สรุปจำนวนข้อมูล และทำความเข้าใจหลักเกณฑ์เงื่อนไข ของการพิจารณาระดับจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการพิจาณากลั่นกรองระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนต่างๆ ดังนี้
- ผู้แทนจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล อำเภอละ 1 คน จำนวน 8 คน
- ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมุกดาหาร
- ผู้แทนจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดมุกดาหาร
- ผู้แทนจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อย
- ผู้แทนจากสภาเกษตรจังหวัดมุกดาหาร
- ผู้แทนจากวิทยาลัยชุมชนจังหวัดมุกดาหาร
- ผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
- สภาองค์กรชุมชนตำบล นำเสนอข้อมูลผู้เดือดร้อนของแต่ละตำบล รายครัวเรือน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาผู้เดือดร้อนทุกครัวเรือน ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลในปี 2561 จำนวน 404 ครัวเรือน
- คณะกรรมการพิจารณาผู้ผ่านเกณฑ์โดยการวิธีการโหวดเสียงข้างมาก คัดเหลือจำนวน 150 หลังคาเรือน
- นำเสนอข้อมูลผลการพิจารณาเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
- จัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ
- ดำเนินการตามแผนงาน
จากบ้านพอเพียง สู่บ้านสร้างสุข มุกดาหาร 36 ปี
การใช้ข้อมูลของชุมชน เพื่อเสนอของบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทำให้หน่วยงานภาคีเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ประกอบกับหลายๆ หน่วยงานมีงบประมาณในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในลักษณะเดียวกัน ได้นำมาบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาคนในชุมชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี การก่อตั้งจังหวัดมุกดาหาร จึงได้เสนอกิจกรรมที่จะมอบความสุขให้กับคนมุกดาหาร จนมาเป็น “บ้านสร้างสุข มุกดาหาร 36 ปี” มีการบูรณาการงบประมาณจาก หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โครงการบ้านพอเพียงชนบท 19,000 บาท, จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมุกดาหรมี 3 โครงการ ได้แก่ 1.) โครงการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ 20,000 บาท, 2.) โครงการปรับสภาพแวดล้อมของผู้พิการ 20,000 บาท, 3.)โครงการ 1 ตำบลซ่อม 1 ตำบลสร้าง 20,0000 บาท และ เหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 30,000 บาท ซึ่งแต่ละหลังคาเรือนมีงบประมาณในการซ่อมแซมแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพความเดือดร้อน โดยงบประมาณอยู่ระหว่าง 50,000 – 89,000 บาท ต่อครัวเรือน นอกจากจะเป็นงบประมาณในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีการมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นในครัวเรือน จากหน่วยงานต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน สโมสรไลท์ออน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกกแดง บ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งมีการมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพให้กับทุกหลังคาเรือนอีกด้วย
ขั้นตอนการดำเนินงานบ้านสร้างสุข มุกดาหาร 36 ปี มีความแตกต่างออกไปจาก การดำเนินงานตามโครงการปกติ เนื่องจากมีการบูรณาการงบประมาณจากหลายส่วนงาน การกำกับติดตามเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของงบประมาณมีความจำเป็นมาก โดยทางพื้นที่ตำบล ทุกภาคส่วน ทั้งสภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ เจ้าของบ้าน จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับการสนับสนุน และ หารือสำหรับแบบบ้านที่จะทำการแก้ไขให้กับผู้เดือนร้อน รายหลังคาเรือน เพื่อประเมินราคาในการซ่อมแซม หรือสร้างใหม่ หลังจากที่ได้ราคาในการดำเนินงานแล้วจะต้องแยกหมวดหมู่และแหล่งที่มาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน พร้อมทั้งส่งรายละเอียดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นกระบวนการและงบประมาณในการดำเนินงานทั้งหมด
กระบวนการในการดำเนินการซ่อมแซม ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากองกรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และสภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่พื้นที่ ที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ ซ่อมแซม และ สร้างบ้านให้กับผู้ด้อยโอกาส ทั้งในส่วนของบ้านสร้างสุข และการซ่อมแซมบ้านพอเพียง โดยบางพื้นที่มีหน่วยทหารช่างเข้ามาช่วยเหลือ บางพื้นที่คนในชุมชนช่วยเหลือกันเอง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความสามัคคีของคนในชุมชนที่มีความต้องการอยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย เจ้าของบ้านเองนอกจากจะได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนช่วยเหลือแล้วยังมีการสมทบงบประมาณเพื่อจัดหาอาหาร สำหรับอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้าน
ภายใต้ความดีอกดีใจ ของเจ้าของบ้าน ถึงขั้นกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ที่ได้เห็นความช่วยเหลือหลั่งไหลมาจากหน่วยงานทั่วสารทิศของจังหวัดมุกดาหาร ก็ยังมีเพื่อนบ้าน ผู้นำในชุมชนเข้ามาร่วมแสดงความยินดี รวมทั้งมอบสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ตามกำลังที่ตนเองมี ทั้งมีพิธีขึ้นบ้านใหม่ ผูกข้อต่อแขน ตามแบบฉบับของวิถีคนในชุมชน เพื่อเสริมความเป็นศิริมงคล และสร้างกำลังใจให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
ข้อค้นพบ
- สภาองค์กรชุมชนสามารถเป็นแกนหลักในการสำรวจข้อมูล เชื่อมประสานภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชนได้
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหา และสามารถเข้ามาเป็นภาคีสำคัญในการดำเนินงาน
- หน่วยงาน ทหาร มีกำลังหลักสำคัญที่สามารถช่วยเหลืองานช่างให้กับชุมชนได้
ข้อติดขัด
- ขาดการสื่อสารระหว่างชุมชนกับหน่วยงานในพื้นที่ตำบล ทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด และเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา
- สภาองค์กรชุมชนมีข้อจำกัดในการจัดทำเอกสาร ทั้งขั้นตอนเสนอและขั้นตอนสรุปโครงการ
- บางพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะสามารถดำเนินการให้ทันตามกิจกรรมได้
- การบูรณาการงบประมาณกับหน่วยงาน เกิดความล่าช้าของการเบิกจ่าย และบางครั้งต้องมีการสำรองเงินจาก อปท.ก่อนเพื่อดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน
- อยากให้มีการการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการระดับตำบล เช่น น้ำดื่ม กาแฟ อาหาร จัดทำเอกสาร รวมทั้งการติดต่อประสานงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่คล่องตัวและไม่เป็นภาระของอาสาสมัครหรือผู้นำมากจนเกินไป
- แบบฟอร์มที่ใช้ในการสำรวจข้อมูลที่อาศัย แต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน อยากให้มีการบูรณาการและรวบรวมเป็นแบบฟอร์มเดียว จะได้ง่ายในการสำรวจ และจัดทำให้แล้วเสร็จในครั้งเดียว
บทสรุป
หลักการสำคัญในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในแนวทางที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยเน้นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรชุมชน ในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชนบทโดยชุมชนท้องถิ่น ที่นำไปสู่การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งกระบวนการดำเนินงานโครงการนั้น เป็นการพัฒนาด้านการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและการติดตามประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม โดยความมุ่งมั่นร่วมกันอันทำให้บรรลุเป้าหมายของตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายด้วยความรับผิดชอบและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
การแก้ไขปัญหาของชุมชนจากคนในชุมชน สามารถทำได้ โดยใช้ พรบ.สภาองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือในการรวบรวมและเสนอปัญหาที่มีอยู่ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนทุกชุมชนเห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เห็นแนวทางการแก้ไข เห็นวิธีการ และเห็นภาคีในการแก้ไขปัญหา เพียงแต่ที่ผ่านมาชุมชนไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก นับตั้งแต่มี พรบ. สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ. 2551 เกิดขึ้น สถานะในการแก้ไขปัญหาเริ่มชัดเจน จะเห็นได้จาก กิจกรรมหลายๆ อย่างที่ผ่านมา เช่น สภาองค์กรชุมชน เศรษฐกิจและทุนชุมชน ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และบ้านพอเพียง เป็นกิจกรรมที่สามารถพิสูจน์ ให้เห็นถึงความพร้อม จาก 100 หลังคาเรือน สู่ บ้านสร้างสุขมุกดาหาร 36 ปี เป็นการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยคนในชุมชนเองโดยแท้จริง
เรียบเรียงโดยนางสาวลาวัณย์ ปัญญนันต์
กองเลขานุการขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหาร