ตำบลหนองปลาปากเดิมขึ้นอยู่กับตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2512 ได้แยกออกมาตั้งเป็นตำบลหนองปลาปาก ปัจจุบันเป็นตำบลหนองปลาปากที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตการปกครองของอำเภอศรีเชียงใหม่ ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านหนองปลาปาก หมู่ 2 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 3 บ้านดอนก่อ หมู่ 4 บ้านนาโพธิ์ หมู่ 5 บ้านขุมคำ หมู่ 6 บ้านไทยสามัคคี หมู่ 7 บ้านเสียว หมู่ 8 บ้านดงบัง หมู่ 9 บ้านจำปาทอง หมู่ 10 บ้านดอนก่อ ซึ่งประชากรในตำบลหนองปลาปากจะนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก และมีครัวเรือนทั้งหมด 2,500 ครัวเรือน มีประชาชนทั้งหมด 8,000 คน แบ่งเพศชายออกเป็น 4,100 คน แบ่งเพศหญิงออกเป็น 3,900 คน ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชนเผ่าลาว ,ไทพวน ซึ่งมีการเล่าขานต่อกันมาว่า “คนในสมัยก่อนได้เดินทางไปค้าขายกันระหว่างไทย กับลาว การเดินทางยังไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบาย” จึงทำให้เผ่าลาวและไทพวน บางครัวเรือนได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักปักฐานในพื้นที่บ้านหม้อ บ้านพานพร้าว จากนั้นได้ย้ายออกมาตั้งเป็นหมู่บ้าน ดังนี้ บ้านเสียว บ้านนาโพธิ์ บ้านหนองปลาปาก บ้านด่อนก่อ บ้านไทยสามัคคี บ้านดงบัง จึงร่วมกันเป็นตำบลหนองปลาปาก ซึ่งตำบลหนองปลาปากมีอายุประมาณ 200 ปี มีพื้นที่ทั้งหมด 37,000 ไร่ ส่วนใหญ่การครอบครองที่ดินในตำบลหนองปลาปากเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. โฉนด น.ส 3 และที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 200 ไร่ โดยมีอาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับ ต.พระพุทธบาท, ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ทิศใต้ ติดกับ ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ และ ต.โพนทอง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ทิศตะวันออก ติดกับ ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ทิศตะวันตก ติดกับ ต.ด่านศรีสุข อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งตำบลหนองปลาปากจะมีลักษณะทางภูมิศาสตร์แบบราบลุ่ม ยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีบึง มีห้วย ที่ประชากรในตำบลหนองปลาปากได้ใช้ประโยชน์จาก บึงหนองปลาปาก บึงหนองก่อ บึงหนองอ้อ หนองแหน ห้วยหินลาด ห้วยเสียว
จึงทำให้ประชากรในตำบลหนองปลาปากประกอบอาชีพ คือ การทำการเกษตร เช่น ทำไร่ ทำนา ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น คนในชุมชนการเป็นอยู่แบบเรียบง่าย การสร้างบ้านเรือนทำตามสมัยโบราณ คือบ้านไม้ยกพื้นสูง พอเวลาผ่านไปหลายปีทำให้บ้านทรุดโทรมปลวกกินไม้ เกิดความไม่มั่นคงไม่แข็งแรงให้กับบ้านเรือน จำนวนที่สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก ได้สำรวจไว้มี บ้านทรุดโทรม 65 หลังคาเรือน ส่วนมากเดือนร้อนจากหลังคารั่ว โครงสร้างหลังคาไม่แข็งแรง และไม่มีห้องน้ำ เป็นต้น
แนวคิดสำคัญต่อการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย
สำหรับการทำโครงการบ้านพอเพียงชนบทเพื่อช่วยเหลือซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ทรุดโทรมไม่มั่นคงนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลได้รับการแนะแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดการ “ให้อย่างรู้คุณค่า รับอย่างมี ศักดิ์ศรี” ไม่ใช่เป็นงานสงเคราะห์ ให้เกิดการลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเองของคนชุมชนและผู้เดือนร้อน โดยการทำความเข้าใจให้ผู้นำชุมชนกับกลุ่มผู้เดือนร้อนและยังสามารถส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้กับคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก ได้รับนโยบายจากสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดหนองคาย เรื่องโครงการบ้านพอเพียงชนบท ปีงบประมาณ 2561 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ทั้งประเทศ และได้สำรวจผู้เดือนร้อนด้านที่ดินที่อยู่อาศัยในตำบลมีจำนวนผู้เดือนร้อนด้านที่อยู่อาศัย 65 ราย ได้ส่งข้อมูลชุดแรกเรียงลำดับความจำเป็นเร่งด่วนตามมติที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลและแบบสำรวจโครงการบ้านพอเพียงชนบท 30 ราย ที่เหลือแบ่งออกเป็นความช่วยเหลือปีต่อหรือส่งต่อหน่วยงานอื่น
นาย สนอง คำแสง ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านดอนก่อหมู่10
โครงการนี้ทำให้คนที่มีเป็นที่อยู่อาศัยทรุดโทรมและไม่แข็งแรง ได้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือเพราะเป็นการทำงานของสภาองค์กรชุมชน ที่มีคณะทำงานทุกหมู่บ้านสามารถเสนอรายชื่อผู้เดือดร้อนได้จริงๆ และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ขั้นตอนการทำงานของแกนนำสภาองค์กรชุมชน(ผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการหมู่บ้าน)นั้นเป็นต้น สำรวจข้อมูลวางแผนการซ่อมสร้างให้กับผู้เดือดร้อนในหมู่บ้านของตนเอง การซ่อมสร้างที่ช่างชุมชนสามารถทำได้เองก็ช่วยทำแต่ทำเป็นสิ่งที่ช่างชุมชนทำไม่ได้ก็จะจ้างแบบพี่แบบน้อง(ช่วยกันตามความศรัทธา)ดังนั้น ผู้เดือดร้อนที่จะได้รับโครงการนี้ต้องมีนิสัยดี และชอบช่วยเหลือชุมชนและเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลหนองปลาปาก สามารถส่งเงินสบทบกองทุนบ้านพอเพียงได้เป็นการสร้างสังคมที่ส่งต่อความรู้สึกที่ดีต่อกันของคนในชุมชน คนที่มีก็ต้องสามารถช่วยเหลือได้ ทางผู้ใหญ่บ้านก็จะประกาศหอกระจ่ายข่าว เพื่อระดมทุนจากผู้ที่มีจิตศรัทธามาช่วยซ่อมสร้างให้แล้วเสร็จจนสามารถเข้าพักอาศัยได้ หลังจากการช่วยเหลือ ผู้เดือดร้อนในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ก็มีความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านได้เป็นตัวแทนของหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการของสภาองค์กรชุมชน ดูแลคนในชุมชนเอง และชุมชนก็ได้ให้การยอมรับการทำงานของผู้ใหญ่บ้านไปด้วยดี
นาย อรุณ สีหานาด ตำแหน่ง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก บ้านไทยสามัคคีหมู่ 6 เล่าถึงความภูมิใจ โครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นโครงการที่ดีเป็นการทำงานของสภาองค์กรชุมชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่ทำมา มีคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพ พูดจริงทำจริง ชัดเจนเชื่อถือได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ และสามารถก่อตั้งเป็นกองทุนบ้านพอเพียงชนบท เป็นการสร้างความกระตือรือร้นให้กับคนเดือนร้อนให้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือตนเองและคนในชุมชน อนาคตอยากเห็นสภาองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถเป็นเวทีกลางในการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ เป็นรูปธรรมความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานของภาคประชาชน +รัฐ+เอกชนได้ และคนในชุมชนมีความอยู่ดีกินดี
นายวิลัย จันทร์ศรี คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชน(คณะทำงาน)
ได้ช่วยแนะนำวิธีการทำให้เกิดกองทุนนี้ เป็นกองทุนที่จะได้ช่วยเหลือคนในตำบลเพื่อจะช่วยยกระดับคุณภาพของชีวิตของคนในตำบลและจะได้สร้างความภูมิใจให้กับผู้นำที่มีส่วนในการทำโครงการครั้งนี้
ซึ่งโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลหนองหนองปลาปากได้รับงบสนับสนุน 2 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2560 ถึงพ.ศ.2561 รวมได้ช่วยเหลือคนในชุมชน ไปแล้ว 14 หลังคาเรือน เกิดกองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองปลาปากเพื่อช่วยเหลือผู้เดือนร้อนในชุมชนและยังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ของชาวบ้าน
การมีส่วนร่วมของชุมชน
การทำงานแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก ซึ่งมีกลไกอยู่ทุกชุมชน/หมู่บ้าน เป็นแกนหลักในการเก็บข้อมูล การซ่อมสร้าง การเก็บเงินสมบทเข้ากองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองปลาปาก
1 นายอรุณ สีหาหนาด ประธานสภา
2 นายแก้ว ขันติกุล รองประธาน
3 นายวิลัย จันทร์ศรี รองประธาน
4 นายวิชิต ทองสุดทิ เลขาสภาฯ
5 นางสุภาพ คุณตะ ปฏิคม
6 นายเข็มชาติ จันทิมา กรรมการ
7 นายเด่น นวลคำสิงห์ กรรมการ
8 นายสนอง คำแสง กรรมการ
9 นาง อุรา ตุ่นก่อ กรรมการ
10 นายวาสนา ปานกล้า กรรมการ
11 นายจำนง สุดยอด กรรมการ
12 นาย สมมาตย์ กรมศรี กรรมการ
13 นางลำไย เกษางาม กรรมการ

ขั้นตอนวิธีการสำคัญๆ ในการขับเคลื่อนโครงการ การสร้างเข้าใจให้กับแกนนำสภาองค์กรชุมชนในการสำรวจผู้เดือนร้อน กำหนดคุณสมบัติผู้เดือนร้อนร่วมกันเป็นเวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก มีดังนี้ 1) เป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่เกิน 80,000 บาท/ปี 2) มีภูมิลำเนาในชุมชนไม่ต่ำ 1 ปี 3) ทีอยู่อาศัย ไม่แข็งแรง ทรุดโทรม (ภาพถ่าย) 4) มีความประพฤติดีและ5) ผู้นำชุมชนรับรอง
เวทีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก
ทำความเข้าใจโครงการบ้านพอเพียงชนบท
ปีงบประมาณ 2561 ณ.ห้องประชุมเทศบาลหนองปลาปาก
แกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลลงพื้นทีสำรวจผู้เดือนร้อนตามที่มีคุณสมบัติ ที่ประชุมกำหนดกรอกแบบสำรวจโครงการบ้านพอเพียงชนบทให้ครบถ้วน และนำหลักฐาน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ภาพถ่ายคนพร้อมสภาพบ้าน พร้อมประมาณราคาการซ่อมสร้าง มาพร้อมด้วย
นำข้อมูลที่สำรวจทั้งหมดและครอบคลุมทั้งตำบลหนองปลาปาก เข้าหารือกันเวทีที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล เชิญภาคีท้องถิ่นเข้ามาเป็นกรรมการร่วมพิจารณาเรียงลำดับความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อซ่อมสร้างในปีงบประมาณนั้นๆข้อมูลผู้เดือดร้อนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกก็จะนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาองค์กรชุมชนรวบรวมข้อมูลนำส่งทีขบวนจังหวัดหนองคายเพื่อดำเนินการต่อไป
เมื่อมีการอนุมัติโครงการบ้านพอเพียงชนบทสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาปาก และภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ทำบันทึกความร่วมมือกัน โดยนายอำเภอศรีเชียงใหม่เป็นประธานในพิธีครั้งนี้
เวทีบันทึกการร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชน ภาคีองค์การบริหารส่วนตำบล หนองปลาปาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลหนองปลาปาก
ผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมความสำเร็จที่เกิดขึ้น ความภาคภูมิใจ ความสุข
เกิดกองทุนบ้านพอเพียงชนบทจากความร่วมมือของผู้นำชุมชนและผู้เดือดร้อน ที่ตระหนักถึงความสามัคคีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในชุมชน สร้างสังคมที่น่าอยู่จาก การให้อย่างรู้คุณ ค่ารับอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อส่งต่อให้คนต่อไปโดยใช้สโลแกนพี่ใหญ่ไม่ทิ้งน้องเล็ก
ปัจจุบันกองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองปลาปาก มีเงินทุน 18,000 บาท สมาชิกจำนวน 30 คน มาจาก ผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัยของชุมชน รูปแบบการจัดการของกองทุน มาจากคณะกรรมการทั้ง 10 หมู่บ้าน ระเบียบข้อบังคับ กองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองปลาปาก การพิจารณาวิธีการสมทบเข้ากองทุนมี 2 รูปแบบ รูปแบบที่ 1.การได้รับจากทางสภาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งมีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือพร้อมที่จะสมทบเข้ากองทุน 13 ราย รายละ 18,000 บาท รูปแบบที่ 2 เก็บเงินสมทบเดือนละ 150 บาท 1ปีก็จะได้ 18,000 บาท เมื่อมีเงินในกองทุนที่รับการสมทบครบ 18,000 บาท ก็จะนำมาพิจารณาซ้อมแซมให้กับผู้เดือดร้อนรายระดับต่อไป ซึ่งคาดหวังว่า 1 ปี จะสามารถช่วยเหลือได้ 1 หลัง
ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งกองทุนฯ กล่าวคือ 1) ชุมชนเห็นความสำคัญของกองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองปลาปากที่เข้ามาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัย 2) ชุมชนเห็นสภาองค์กรชุมชนทำงานอย่างเป็นรูปธรรมความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนในชุมชน 3)…เห็นผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาช่วยเหลือตนเองและชุมชนอย่างเข้มแข็ง
ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนซึ่งเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ดังคำที่ว่า “พี่ใหญ่ไม่ทิ้งน้องเล็ก คือ การที่ได้รับโครงการก่อนถือว่าเป็นพี่ใหญ่ คนได้รับโครงการคนต่อไปถือว่าเป็นน้องเล็ก เป็นการแบ่งปันคุณค่าของการเป็นผู้ให้คืนต่อสังคมเพื่อชุมชนที่น่าอยู่ต่อไป
คนที่ 1 ชื่อ นาย สัญญา ศรีหาบุตร 45 ปี บ้านนาโพธิ์ ความรู้สึก ดีใจที่มีโครงการบ้านพอเพียงชนบท เพราะการมีที่อยู่ ที่อาศัยที่ไม่มั่นคงนั้น มาจากหลายสาเหตุแต่ทุกคนก็ต้องการที่อยู่ที่อาศัยที่มั่งคงแข็งแรง เวลาฝนตกก็มีที่หลบฝน แดดออกก็มีที่หลบแดด ดังนั้นการที่สภาองค์กรชุมชน ตำบล และผู้ที่เดือดร้อนได้กำหนดเก็บเงินคืนเพื่อมาก่อตั้งเป็นกองทุนบ้านพอเพียงชุมชนนั้นทางนาย สัญญา ศรีหาบุตร ยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เพราะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งบางครั้งคนเดือดร้อนก็ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งหมด การสื่อสาร ให้สื่อเป็นมติที่ประชุมและเตรียมผู้เดือดร้อนในรายการซ่อม สร้างตามความต้องการผู้ที่เดือดร้อน(ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน) ส่วนการทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการทำหน้าที่ได้ดีแต่ครั้งต่อไป ขอให้การพิจารณาผู้เดือดร้อนจริงที่มีข้อมูลสำรวจไว้ และเวลาประชาคมรับรองความมีการเลือกเสนอข้อมูลทั่วตำบล โดยคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
- คนที่ 2 ชื่อนาง สุรภา จันดอกไม้ 53 ปี บ้านจำปาทอง
- ความรู้สึก ดีใจ เพราะเป็นโครงการได้รับการช่วยเหลือจากสภาองค์กรชุมชน ที่มีการสำรวจข้อมูลไว้แล้ว และทำตามสัญญาข้อมูลคณะกรรมการที่เอาใจใส่คนในชุมชนโดยไม่หวังผลประโยชน์ ตอบแทนใดๆ การเกิดกองทุนบ้านพอเพียงชนบทในตำบล เช่น เป็นการร่วมกันสมทบคืนเงินที่ได้รับการส่งเสริมจากทางรัฐบ้าง เพื่อเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงบุคคลอื่นที่เดือดร้อนเป็นการสร้าวินัยทางสังคมให้น่าอยู่เพราะเป็นการแบ่งปันความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องรอใครมาบอกให้ทำ
ผู้เดือดร้อน นางนารี เสียวสุข บ้านเสียว หมู่ 7 ได้เดือนร้อนในเรื่องหลังคาบ้านเข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบทโดยคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนได้ลงสำรวจและได้เสนอรายชื่อไปทางสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดได้ช่วยเหลือการซ่อมหลังคาบ้านโดยผู้นำและช่างชุมชน นาง นารี เสียวสุข ภูมิใจที่ได้รับโครงการบ้านพอเพียงชนบท และยินดีที่จะสมทบทุนคืนเพื่อที่จะได้ซ่อมสร้างให้กับคนอื่นที่เดือดร้อนที่อาศัยในชุมชนคนต่อไป
บทสรุป
โครงการบ้านพอเพียงชนบท สภาองค์กรชุมชนได้มีบทบาทร่วมพัฒนาแก้ไขปัญญาความเดือดร้อนด้านที่ดินที่อยู่อาศัยในชุมชน ทำให้คนในชุมชนรู้จักสภาองค์กรชุมชนมากขึ้น ดังสโลแกนที่ว่า “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภาคี” สภาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มในชุมชนจึงรู้จักปัญหาของชุมชนเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนองานของตนเองได้ดี
แกนนำชุมชน คนในชุมชน เริ่มให้ความสนใจสาระทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกันโดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือน ของคนที่มีรายได้น้อยในตำบล และเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐที่จัดให้ นอกจากนั้นยังสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนจากฐานรากที่เป็นผู้เดือดร้อน ให้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม ตามศักยภาพและความสมัครใจของตนเอง บนศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมเสมอภาคกันไม่รอแต่รับอย่างเดียว
ซึ่งกองทุนบ้านพอเพียงจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เป็นทุนภายในของตำบลที่จะสามารถช่วยเหลือพี่น้อง คนในชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย โดยเกิดจากกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนในตำบล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญลำดับต้นๆ ในการสร้างความมั่นคงของอาคารบ้านเรือน ซึ่งจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในครอบครัวได้ และการตระหนักของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมที่ไม่หวังผลประโยชน์จากที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังตระหนักถึงครอบครัวอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ พร้อมที่จะระดมเพื่อสมทบกองทุนฯ ในการช่วยเหลือ โดยคาดหวังว่า จะไม่มีครอบครัวที่มีสภาพบ้านเรือนที่ทรุดโทรม พร้อมที่จะระดมทุนสมทบกองทุนฯ ตามกำลังทรัพย์ที่มี และกำลังกายที่จะช่วยเหลือ ซ่อมแซมบ้านหลังต่อไป ดังคำที่ว่า “พี่ใหญ่ไม่ทิ้งน้องเล็ก”
บทความโดย ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคายและพอช.อีสาน