สภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อให้กลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆในตำบล ได้มีเวทีในการนำปัญหาต่างๆของตนเองมาพูดคุย และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายดรณ์ พุ่มมาลี ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่ เล่าให้ฟังว่า ตอนตั้งสภาฯใหม่ๆก็ทำอะไรไม่ถูกเพราะเป็นของใหม่ พยายามหาความรู้เพิ่มเติมอ่านกฎหมายบ้าง ใครมีประชุมสัมมนาที่ไหนก็ไปจะได้นำความรู้ประสบการณ์มาพัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบล แต่ก็ไปไม่ถึงไหนรู้กฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
“ผมมาจับใจความตามเจตนารมณ์ของ พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ที่ว่า ชุมชนอ่อนแอเพราะการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าจะทำให้สภาฯเข้มแข็งต้องทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ชุมชนจึงจะลุกขึ้นมามีบทบาทในการกำหนดอนาคตของตนเองได้ เมื่อเป็นดังนี้จึงให้ความสำคัญกับพื้นที่หันมาชวนชาวบ้านทำงานตามปัญหาที่เขาประสบอยู่”
ดรณ์ พุ่มมาลี เล่าต่ออีกว่า “งานแรกที่ทำคือ บ้านผมชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนตัดยางหวะและรับจ้างทั่วไปเป็นหนี้นอกระบบกันมาก เป็นทุกข์หนักของคนที่นี่ บางคนถูกทวงหนี้ต้องหนีไปซ่อนตัวอยู่ในสวนยาง ก็ชวนพวกเขามาพูดคุยให้เข้าใจปัญหาและหาทางออกร่วมกัน มีการของบประมาณจากภายนอกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งก็ทำได้ระดับหนึ่งแต่ที่เราได้คือได้ใจคนได้ใจชาวบ้านที่เป็นหนี้ ซึ่งชั่วนาตาปีไม่มีใครหันมาดูแล ผมชวนแกนนำเหล่านี้มาคุยหาทางออกและเห็นร่วมกันว่า สิ่งสำคัญกว่าการเป็นหนี้นอกระบบคือ การป้องกันไม่ให้เป็นหนี้ซ้ำอีก เราต้องหันมาจัดการกับตัวเอง หางานทำ ใช้ทุนที่มีอยู่ในตำบลมาสร้างสรรค์เป็นงานโดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง”
“เดิมตัดยางหวะหรือไม่ก็รับจ้างทั่วไปและไม่ทำอย่างอื่นอีกเลย ข้าว กับข้าว ยาต้องซื้อทุกอย่าง ฯลฯ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เราสร้างมันขึ้นมาได้ เราจึงใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลพูดคุยกันทุก 15 วัน แก้ปัญหาข้าวก็ตั้งธนาคารข้าว รับซื้อข้าวและบางรายก็ปลูกข้าวมาขายให้สมาชิกในราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 18 บาท เรื่องกับข้าวก็มีหลายกิจกรรมที่ชวนชาวบ้านทำ เช่น ทำริมถนนในหมู่บ้านให้เป็น “ริมถนนกินได้” สร้างอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี ทุกบ้านต้องปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารตามโครงการ “ธนาคารอาหารข้างบ้าน”
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่ เล่าอีกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนจนไม่มีหลักทรัพย์ที่จะไปค้ำประกันเงินกู้ที่ไหนก็ต้องมีแหล่งเงินเป็นของตนเอง ตอนนี้เรามีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลช่วยดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย ตั้งกองทุนหยิมยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยให้สมาชิกยืมไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น และยังมีธนาคารเครือข่ายซึ่งทุกคนช่วยกันออมคนละ 10-20 บาท เพื่อมีเงินให้ทุกคนได้หยิบยืมไปใช้
“ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน สภาฯของเราก็ให้ความสำคัญ นอกจากทำเรื่องถนนกินได้แล้วยังมีการตั้งธนาคารขยะ โดยเทศบาลตำบลคลองใหญ่สนับสนุนแปรสิ่งเหลือใช้มาเป็นเงินทุนของชุมชนและของครัวเรือน ซึ่งทุกกิจกรรมที่เล่ามา มุ่งแก้ปัญหาของเราเอง เราช่วยตัวเราเองก่อน ทุกกลุ่มที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นจะมีแกนนำไปแนะนำและพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
จุดสำคัญของสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่เท่าที่รับฟังและไปดูมาด้วยตัวเองก็คือ การให้ความสำคัญกับคนฐานล่าง สภาฯจะเข้มแข็งไม่ได้หากกลุ่มองค์กรฐานล่างไม่เข้มแข็ง และพี่น้องประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม พี่น้องไม่มีความรู้สึกว่าสภาฯช่วยอะไรเขาได้ ดังนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่จึงมุ่งจับไปที่ประเด็นที่ชาวบ้านมีปัญหานำปัญหานั้นมาพูดคุยหาทางออกและทำร่วมกัน ซึ่งทุกคนก็เห็นและได้รับผลเป็นประจัก
นอกจากนี้ ยังได้เห็นเทคนิคการทำงานอีกหลายอย่าง เช่น การประชุมกันทุก 15 วัน มีงานมีเรื่องราวใหม่ๆมาพูดคุยกันตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแกนนำ โดยค้นหาคนเก่งเอาการเอางานจากแต่ละกลุ่มแต่ละหมู่บ้าน มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานที่แต่ละคนถนัด ที่น่าสนใจก็คือ ส่งเสริมให้แต่ละคนไปจัดตั้งกลุ่มใหม่ตามความคิดและตนเองถนัด จนเกิดเป็นกลุ่มต่างๆขึ้นมาอีกมากมาย เช่น กลุ่มปศุสัตว์ที่ร่วมกันเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ที่บ้าน ตอนนี้มีสมาชิกร้อยกว่าครอบครัว กลุ่มวิสาหกิจน้ำพริกของแม่บ้านมีทั้ง น้ำพริกทำมัง น้ำพริกเผา กลุ่มขนมพื้นบ้าน ทำยาหนม(กะละแม) กลุ่มนาอินทรีย์ของกลุ่มคนตัดยางหวะ กลุ่มปลูกผักสีเขียว ซึ่งทุกกลุ่มได้จดแจ้งเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่ ทุก 15 วัน มาประชุมสภาฯเอาปัญหา ข้อคิด ความสำเสร็จและแนวทางพัฒนาต่างๆมาแลกเปลี่ยนกัน
เบญจมณ ไพรพฤกษ์ หรือ ก๊ะเอียด เล่าว่า ตนแยกมาตั้งกลุ่มเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงวัวในสวนยาง พวกเราส่วนใหญ่ทำสวนยางปัญหายางพารามีมาก เราก็ร่วมกับเครือข่ายชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เพื่อผลักดันแก้ไขกฎหมายทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แต่ที่บ้านเราก็ต้องทำ ชาวสวนยางทุกคนต้องกลับบ้าน ทำสวนยางยั่งยืน ในสวนยางต้องมีไม้ยืนต้น มีผัก มีพืชสมุนไพร เลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ในสวนยางต้องปลอดสารเคมี สร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงให้เรา
“สวนยางยั่งยืนเป็นการทำสวนยางแนวใหม่ เช่น ถ้ามีอยู่ 7 ไร่ ปีแรกจะโค่นยาง 1 ไร่ เพื่อปลูกพืชต่างๆ ทำแปลงเกษตรยั่งยืนสร้างรายได้ ปีที่สองก็โค่นอีกหนึ่งไร่ ส่วนหนึ่งไร่แรกที่โค่นพอถึงปีที่สองก็จะปลูกยางใหม่ทดแทน เป็นอย่างนี้เรื่อยๆเมื่อครบ 7 ปี ยางใหม่ก็กรีดได้ เป็นการทำยางที่ผสมผสานกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน”
ก๊ะเอียด เล่าอีกว่า อีกแนวทางหนึ่งที่สภาฯของเรากำลังทำอยู่ก็คือ “อาหารเป็นยา” คือเอาผักในสวน 93 ชนิด มาเป็นอาหาร มีการทำเมนูอาหารแนะนำให้คนรู้จัก เช่น แกงส้มดาหลา แกงปลาย่างใส่ระกำ แกงเลียงขี้เหล็กยอดย่านาง น้ำพริกทำมัง ฯลฯ
นี่เป็นเรื่องราวเพียงบางส่วนของการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบลให้เข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ เป็นการทำให้คนรู้จักฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาของตนเอง เป็นการพัฒนาจากจุดเริ่มต้นที่สร้างฐานรากให้เข้มแข็ง จนปัจจุบัน ปัญหาปากท้อง ปัญหาหนี้สิน ถูกแก้ไขได้อย่างน่าพอใจและกำลังก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าด้วยแนวทางสวนยางยั่งยืนที่มีทั้งรายได้ความมั่นคงทางอาหารและความสามัคคีของคนในตำบล
ดังนั้น เป้าหมายของการสร้างสภาองค์กรชุมชนตำบลให้เข้มแข็ง มิใช่การที่สภาองค์กรชุมชนตำบลทำแผนพัฒนาเป็น จริงอยู่การทำแผนพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า ก็คือ สภาฯต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานล่าง หนุนเสริมให้เกิดการระเบิดจากภายในชุมชน เพื่อเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตตนเอง
งานเขียนโดย สุวัฒน์ คงแป้น และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคใต้