วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคกลางและตะวันตก พร้อมเจ้าหน้าที่ภาค ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจในพื้นที่ และนายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้แทนคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเชิงพื้นที่ (อกขร.พื้นที่) ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาจังหวัดภายใต้แนวคิด “ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” (ภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์ ภูมิประวัติศาตร์ ภูมิธรรม) กับนายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
นายศิวโรฒ จิตนิยม นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี และนายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้แทน อกขร.พื้นที่ ได้ร่วมกันนำเสนอว่าจากการวิเคราะห์ และการลงพื้นที่ศึกษาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ด้านการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ของ อกขร.พื้นที่ เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายเชิงพื้นที่ และติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งประสานเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วมการประชุมด้วย และฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำความเห็นที่ประชุมไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาดูงาน ณ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.)
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้แทน อกขร.พื้นที่ กล่าวว่าจากการศึกษาดูงาน ณ โรงงานกระดาษกาญจนบุรี เขตกำแพงเมืองเก่า หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณนายก และการประชุมหารือในแนวทางการขับเคลื่อน เรื่อง ๔ ภูมิ ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์ ภูมิประวัติศาสตร์ และภูมิธรรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่าจังหวัดกาญจนบุรีมีความสวยงามในเรื่องราวเกี่ยวกับ “ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” คือ เป็นสถานที่ประมวลเรื่องราวและเรื่องเล่าสำคัญของเมือง ซึ่งประกอบด้วย ๔ ภูมิ ได้แก่ ๑) ภูมิศาสตร์ คือเป็นเขตตะวันตกที่บอกอุณหภูมิของประเทศตลอดทั้งปี อุดมด้วยธรรมชาติ ป่าเขา สายน้ำ ทรัพยากรสินแร่ พืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์ป่า ๒) ภูมิทัศน์ คือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายทั้งน้ำตก ล่องแพ เดินป่า ฯลฯ ๓) ภูมิประวัติศาสตร์ คือมีภาพเขียนถ้ำก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว อนุสรณ์ดอนเจดีย์ โบราณสถานเจดีย์ยุทธหัตถี สุสานทหารสัมพันธมิตร ฯลฯ และ ๔) ภูมิธรรม คือเป็นเส้นทางอารยธรรมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากอินเดียสู่พม่า ไทย และเขมร และวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ฯลฯ
“พื้นที่โรงงานกระดาษกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ และให้บริษัทอุตสาหกรรมศิริศักดิ์ จำกัด เช่าพื้นที่ดำเนินกิจการโรงงานกระดาษ อายุสัญญาเช่า ๓๐ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ปัจจุบันกรมธนารักษ์อนุญาตให้ผู้เช่ารายเดิมใช้ประโยชน์อีก ๑ ปี ซึ่งได้สิ้นสุดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ และได้มีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่ากาญจนบุรี ทั้งนี้ ภาคประชาสังคม ประชาชน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นสอดคล้องกันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญของชาติ มีคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่เชิงประวัติศาสตร์ และเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม จึงควรได้รับการพัฒนาให้เป็น “ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่ประเทืองปัญญาและเป็นพื้นที่สีเขียว ให้เป็นดั่งใจเมืองที่คนเมืองกาญจน์ภาคภูมิใจ ซึ่งขณะนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดวางแผนการใช้พื้นที่บริเวณโรงงานกระดาษเก่า เพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นเบื้องต้นแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องมีแผนการบริหารพื้นที่ และโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป”
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ เห็นว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) เป็นหน่วยงานที่มีเครื่องมือสำหรับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และเป็นเลขานุการร่วมในคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ จึงเห็นควรให้ พอช.พิจารณาสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีจัดกระบวนการทางสังคมให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมคิด และร่วมขับเคลื่อนงานสำคัญนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป
นายปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่าแนวทางการพัฒนาและการเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ที่ควรมีบทบาทภาคประชาสังคม สภาองค์กรชุมชนในพื้นที่ต่อการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมแบบเป็นเจ้าของร่วมกัน และบทบาทสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตามประเด็นงานที่จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานกันได้ ทั้งนี้ การดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ๙๒ สภา กองทุนสวัสดิการชุมชน ๖๕ กองทุน มีดำเนินงานตามประเด็นงานตำบลแผนเศรษฐกิจ และดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียง ซ่อมแซม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย
ด้านนายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ประเด็นการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ เนื้อที่ประมาณ ๖๙ ไร่ ๒ งาน มีแนวคิดในการพัฒนาเป็นลานกิจกรรม ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ โดยพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวอาคารยังมีข้อติดขัดไม่สามารถใช้ได้ เพราะยังเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้พื้นที่เก่าอยู่ โดยจะมีการประเมินราคา ซึ่งแนวทางที่จะให้ประชาชนคนเมืองกาญจนบุรีร่วมกันลงทุนซื้อตัวอาคารจากผู้ขอใช้พื้นที่โรงงานกระดาษ เพื่อให้เป็นสมบัติร่วมกันของคนเมืองกาญจนบุรี ในลักษณะการลงหุ้น มีการจำกัดวงเงินหุ้น ทั้งนี้เพื่อกระจายให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ตัวอย่างเช่น “อิฐก้อนละ ๑๐ บาท” และในวันที่ ๒๓ – ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ จะมีเวที “การใช้ศิลปกรรมในการพัฒนาเมือง” ช่วงบ่ายจะมีศิลปินแห่งชาติมาเข้าร่วมและออกแบบร่วมกับภาคประชาชน และในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีจะนำเรื่องนี้หารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์ต่อไป
นางวัชรา สงมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค(ปฏิบัติการพื้นที่) และนายทัตพงษ์ แก่นโมก เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน รายงาน