กรณีชาวบ้านที่กำลังโดนไล่ที่ หรือประสบภัยพิบัติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสามารถช่วยเหลือได้หรือไม่

สามารถสนับสนุนได้โดยโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว  กรณีไฟไหม้ ไล่รื้อ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนที่อยู่อาศัยชั่วคราวระหว่างรอการปลูกสร้างที่พักอาศัยถาวรเพื่อรองรับการช่วยเหลือชุมชนที่ประสบปัญหาไฟไหม้ ไล่รื้อ ภัยพิบัติที่ส่งผลให้บ้านเรือนเสียหาย หรือชุมชนที่จำเป็น ต้องรื้อย้ายเพื่อสร้างชุมชนใหม่   แต่ไม่สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือเชิงสงเคราะห์ให้กับผู้ประสบภัยในลักษณะเป็นรายๆได้

โครงการบ้านพอเพียงชนบทต้องมีการคืนทุนหรือไม่

การสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นงบประมาณแบบให้เปล่า สำหรับผู้ที่ยากจนที่มีบ้านเรือนทรุดโทรม ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเครือข่ายชุมชนมีการออกแบบระบบการคืนทุนเพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนของงบประมาณที่ได้รับเพื่อส่งต่อให้ผู้เดือดร้อนทั้งตำบลได้รับ ก็เป็นแนวทางการสร้างทุนชุมชน เกิดระบบสวัสดิการที่ยั่งยืนในเรื่องที่อยู่อาศัยในตำบลก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของตำบล หรือเครือข่าย

โครงการบ้านพอเพียงชนบทสามารถช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มใดบ้าง

โครงการบ้านพอเพียงชนบท มีเป้าหมายในการสนับสนุนครัวเรือนยากจนในพื้นที่ชนบทที่มีปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มั่นคงแข็งแรง สภาพไม่เหมาะสมในการอยู่อาศัย เนื่องจากฐานะยากจน จะมีที่ดินหรือไม่มีทิ่ดินของตนเองก็ได้ โดยที่กลุ่ม/เครือข่ายชุมชนในตำบลร่วมกับท้องถิ่น ในการสำรวจผู้เดือดร้อน จัดลำดับว่าบ้านไหนสมควรจะได้รับการสนับสนุนก่อนหลัง

ทำไมโครงการบ้านมั่นคงต้องมีการออมทรัพย์

เพราะคนจนมีเงินน้อย มีเงินไม่พอในการสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง จึงต้องสร้างกระบวนการกลุ่มให้ชุมชนรวมกลุ่มกัน และนำเงินมาออมรวมกัน การออมเงินเป็นการสร้างกองทุนภายในชุมชน และเป็นการสร้างวินัยการออมของผู้เข้าร่วมเพื่อฝึก และยืนยันว่าสามารถผ่อนส่งสินเชื่อระยะยาวได้หรือไม่ และช่วยให้ลดจำนวนเงินที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อสร้างบ้าน การออมทรัพย์ไม่ใช่การออมเงินอย่างเดียว แต่เป็นการออมคน ออมแรง ทำให้เกิดการรู้จักคุ้นเคย ใกล้ชิดกันมากขึ้น

โครงการบ้านมั่นคง คืออะไร

โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด  ชุมชนบุกรุก หรือชุมชนต่างๆที่ไม่มีที่ดินอยู่อาศัย หรือสถานะที่ดินไม่มั่นคง  สภาพบ้านที่อยู่อาศัยชำรุดทรุดโทรม หรือเป็นผู้ประสบปัญหาภัยพิบัติ อัคคีภัย หรือถูกไล่รื้อชุมชน โดยชุมชนต้องเป็นหลักในการดำเนินการทุกขั้นตอน  รัฐสนับสนุนงบอุดหนุนที่อยู่อาศัย และพัฒนาสาธารณูปโภคบางส่วน รวมทั้งสินเชื่อตามความจำเป็น

ใครสามารถเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงได้บ้าง

ผู้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงจะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ถ้าเป็นบ้านเช่าก็ต้องเป็นบ้านเช่าที่อยู่อาศัยมานาน มีการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์ ร่วมวางแผน และทำโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ไม่สามารถสนับสนุนเป็นรายบุคคลได้

โครงการบ้านมั่นคงมีการดำเนินการอย่างไร

โครงการบ้านมั่นคงมีแนวทางการทำงานที่สมาชิกมีส่วนร่วม ดังนี้

  1. การสำรวจข้อมูลข้อมูลชุมชนทั้งเมือง ข้อมูลครัวเรือนผู้ที่เดือดร้อน ข้อมูลที่ดินที่จะใช้แก้ปัญหา
  2. สร้างความเข้าใจเป้าหมาย วิธีการทำโครงการบ้านมั่นคง
  3. ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เริ่มออมต่อเนื่อง อาจจะเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายวันก็ได้ เลือกกรรมการ
  4. จัดสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยบนความเอื้ออาทรกัน ความหลากหลายของจำนวนคน และอาชีพ
  5. ร่วมวางผังออกแบบบ้านตามใจผู้อยู่
  6. ก่อสร้าง พัฒนาระบบสาธารรูปโภค ก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้าน
  7. วางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งด้านสังคม อาชีพ สวัสดิการ

โครงการบ้านมั่นคงมีรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างไร

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยโครงการบ้านมั่นคง ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา ความสามารถในการจ่าย และความต้องการของชุมชน มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิม พัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยชุมชนอยู่ในที่ดินเดิม และคงรูปแบบของสังคมเดิมของชุมชน ,ปรับผังแปลงที่ดินใหม่โดยคงโครงสร้างเดิม ทำให้ชุมชนเป็นระเบียบมากขึ้น เช่น การขยับตัวบ้านบางส่วน ,แบ่งปันที่ดิน ที่ดินส่วนแรกคืนให้กับเจ้าของไปใช้ประโยชน์ ชาวชุมชนจะย้ายเข้าไปอยู่ร่วมกันอีกส่วน ชุมชนเช่าหรือซื้อจากเจ้าของ แล้วพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย, ก่อสร้างรูปแบบใหม่ในที่ดินเดิม รื้อย้ายบริเวณเดิมจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และรื้อย้ายไปอยู่ที่ใหม่

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองอย่างเป็นระบบเป็นอย่างไร

แนวทางสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองอย่างเป็นระบบ คือ

  • การให้ชุมชนเป้นแกนหลักในการดำเนินการ เน้นการพัฒนาที่คนเป้นศูนย์กลางการพัฒนา นำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จัดการตนเองได้ในระยะยาว
  • การแก้ไขปัญหาโดยการใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผน มีการสำรวจความเดือดร้อน
  • ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาสัยทำงานควบคู่กับชุมชน
  • การพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมกันของคนในเมือง หรือ คณะกรรมการเมือง
  • มาตรการสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ดินรัฐ เช่น การสนับสนุนการใช้ที่ดินรัฐในการแก้ไขปัญหา การสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาปรับปรุงชุมชน และงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิตและด้านอื่นๆ

Q & A (ถาม-ตอบ)