ความเป็นมา
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ได้ให้การสนับสนุนกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุในปี 2544- 2545 จังหวัดละ 1 ล้านบาท โดยให้เครือข่ายผู้สูงอายุในจังหวัดร่วมกันบริหารเงินก้อนนี้ให้มีความยั่งยืน บางจังหวัดนำไปซื้อทรัพย์สิน บางจังหวัดให้สมาชิกกู้ นำดอกผลมาจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ หลายจังหวัดยังมีกองทุนนี้บริหารมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี 2545 มีการวางแผนยุทธศาสตร์ของขบวนองค์กรชุมชนระดับภาค มีการกำหนดประเด็นงานพัฒนาต่าง ๆ และจัดทำโครงการพัฒนา ประเด็นสวัสดิการชุมชนถูกกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของทุกภาค
ปี 2546 มีผู้นำชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศเข้าร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม พอช.จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการผู้นำชุมชน (สนช.) ขึ้นโดย พอช. สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาท และสมาชิกสมทบเพิ่มเติมคนละ1 บาท/วัน กองทุนดังกล่าวมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 1,500 คน
ปี 2547 รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาคนจน มีการลงทะเบียนคนจนทั่วประเทศ เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดให้มีการสัมมนา”สวัสดิการชุมชน แก้จนอย่างยั่งยืน” เพื่อผลักดันนโยบายสวัสดิการ และได้เริ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลในพื้นที่นำร่องในปี 2548 จำนวน 14 ตำบล ต่อมาขยายเป็น 68 ตำบล ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) เป็นจำนวนเงิน 32.1 ล้านบาท ในปี 2549 มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะดังกล่าวเป็น 191 ตำบล มีสมาชิก 133,100 คน รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณจาก ศตจ. อีก 85 ล้านบาท
ปลายปี 2549 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นระดับชาติและระดับจังหวัด รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 200 ล้านบาท ถึงตอนนี้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้วจำนวน 650 กองทุน มีสมาชิกรวม 275,500 คน
ทางด้านกฎหมาย มีการแก้ไข พ.ร.บ.สวัสดิการสังคม 2546 เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับกองทุนสวัสดิการชุมชน
ปลายปี 2550 มีการจัดสัมมนาผู้แทนกองทุนทั่วประเทศ “มหกรรมสวัสดิการชุมชนคนไม่ทิ้งกัน” นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นประธานในพิธีเปิด ปีนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด 62 จังหวัดและเริ่มมีการจัดเวทีสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด
ปี 2551 จำนวนกองทุนเพิ่มเป็น 1,600 กองทุน สมาชิก 445,863 คน มีเงินกองทุน 163 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 2,904 กองทุน สมาชิก 932,780 คน จำนวนเงินกองทุน 459 ล้านบาทในปี 2552 และเป็น 3,443 กองทุน สมาชิก1,446,262 คน เงินกองทุน 790 ล้านบาทในปี 2553
ปลายปี 2551 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุนสวัสดิการชุมชนในปี 2552 มีการจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนที่หาดใหญ่ จ.สงขลา คนเข้าร่วมกว่า 6,000 คน นายกรัฐมนตรีประกาศสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนคนละ 1บาท/วัน โดยเริ่มสนับสนุนปีงบประมาณ 2553 จำนวนเงิน 723 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 800 ล้านบาท มีการสนับสนุนเงินสมทบต่อเนื่องถึงปี 2556 แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้วก็ตาม โดยปี 2555 สนับสนุน 743 ล้านบาทและจำนวน 701 ล้านบาทในปี 2556
ปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีนโยบายสนับสนุน สวัสดิการชุมชน แต่จัดสรรงบประมาณสมทบและพัฒนากองทุนในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 169 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 173 ล้านบาทและ ปี 2562 จำนวน 461 ล้านบาท (ปี 2558และปี 2559 สนับสนุนงบพัฒนาปีละ 56 ล้านบาทแต่ไม่ใช่งบสมทบกองทุน)
ในปีนี้เช่นกันที่เครือข่ายได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสวัสดิการุชมชนระยะที่หนึ่ง (2557-2561)
ทางด้านการขับเคลื่อนนโยบาย นอกจาการผลักดันให้รัฐบาลสมทบกองทุนดังกล่าวแล้ว ยังมีการผลักดันให้มีกฎหมายรองรับกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยเครือข่ายเริ่มร่างกฎหมายในปี 2558 แล้วนำเสนอไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งรับหลักการและได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อมามีการนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ในเดือนกันยายน 2559 มีมติให้ทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าวกับความซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมได้หารือกับ พอช. และ สำนักงานปลัดกระทรวงพม. มีข้อสรุปว่าควรปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการชุมนและเรื่องอื่น ๆ
ปี 2561 เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงจึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในเดือนมิถุนายน 2561
อย่างไรก็ตามการประประชุมเครือข่ายสวัสดิการชุมชนต้นปี 2562 ซึ่งมีการเชิญผู้ทุนพรรคการเมืองมารับข้อเสนอของชุมชน ผู้แทนพรรคการเมืองบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการออกฎหมาย เพราะการทำงานของกองทุนชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการอยู่แล้วและผู้แทนชุมชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับการออกฎหมาย จึงมีการเสนอชะลอการผลักดันกฎหมายในคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
ในช่วงปี 2560-2561 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทางด้านต่างๆ เครือข่ายองค์กรชุมชนได้เสนอการออกกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปด้านสังคม คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมเห็นชอบกับแผนดังกล่าว และเป็นหนึ่งในกิจกรรมในแผนที่ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนมีนาคม 2561
ในช่วงปี 2559 มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้ผลักดันให้มีการกำหนดสิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 (4) มีข้อความว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ์ ในการจัดให้มีสวัสดิการชุมชน สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย”
ในช่วงปี 2559 เช่นกันที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ พอช. และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วมกันจัดทำโครงการมอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยคัดเลือกกองทุนที่ทำงานดีเด่นทางด้านต่าง ๆ มารับรางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กิจกรรมนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน (2562)
หลักการสำคัญและลักษณะการดำเนินการกองทุนสวัสดิการชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกองทุนที่ริเริ่มจัดตั้งโดยเครือข่ายองค์ชุมชน โดยเน้นที่การจัดสวัสดิการให้สมาชิก ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของระบบออมทรัพย์หรือองค์กรการเงินอื่น ๆ การดำเนินการของกองทุนอยู่ภายใต้หลักการสำคัญดังนี้
- ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี หมายถึง สมาชิกทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับไปพร้อมกัน ไม่ใช่รอรับแต่การช่วยเหลือ เพราะทุกคนบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนเท่ากันและมีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือเมื่อยามจำเป็นเท่ากัน
- รื้อฟื้นวัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างคนในชุมชนนั้นเป็นสายธารทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งในสังคมไทยมายาวนาน แต่ค่อยๆเลือนหายไปเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม กองทุนสวัสดิการุชมชนเป็นเครื่องมือที่จะรื้อฟื้นวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาอีกครั้ง หลายกองทุนได้แปรหลักการนี้ไปสู่การตั้งชื่อกองทุนว่า “กองบุญ” ซึ่งหมายถึงการสมทบเงินเป็นการทำบุญ ช่วยเหลือผู้อื่นและตนเองในยามเดือดร้อน ไม่ใช่การจ่ายเงินเพื่อเรียกร้องสิทธิ เหมือนอย่างจ่ายเงินให้บริษัทประกันหรือกองทุนสวัสดิการสังคมประเภทอื่นๆ
- จัดการโดยองค์กรชุมชน ตามสภาพท้องถิ่น กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้ง ดำเนินการและบริหารจัดการโดยองค์กรชุมชน ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ กำหนดขึ้นตามความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกกองทุน หน่วยงานภายนอกเป็นผู้สนับสนุน การออกแบบ การจัดการกองทุนเป็นไปตามวัฒนธรรม ประเพณีและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละท้องถิ่น
- มุ่งไปสู่การพึ่งตนเอง ด้วยเล็งเห็นว่าความยั่งยืนของกองทุนขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกและการบริหารงานของกองทุน ผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนในยุคแรกๆจึงวางหลักการสำคัญไว้ว่า การทำงานของกองทุนต้องนำไปสู่การพึ่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการสนับสนุนจากภายนอกนั้น ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน ความแข็งแกร่งของกองทุนต้องมาจากพลังความร่วมมือของคนภายในของชุมชนเอง ทั้งทางด้านการเงินและการบริหารจัดการ
- เงินคือเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายการพัฒนา กองทุนสวัสดิการเป็นกองทุนเกี่ยวกับการเงิน แต่เป้าหมายของการการทำงานกองทุนนี้คือการสร้างความร่วมมือ การช่วยเหลือเกื้อกูล ความรักความสามัคคีและการสร้างหลักประกันทางสังคมให้มวลหมู่สมาชิกในชุมชน
ลักษณะการดำเนินการ
- กองทุนระดับตำบล/เมือง กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกองทุนระดับตำบลหรือเมือง เพราะถ้าเป็นระดับหมู่บ้านหรือชุมชน(เมือง) อาจจะมีสมาชิกน้อยเกินไปและไม่สามารถขับเคลื่อนงานให้มีความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของตำบลได้ ประกอบกับการเชื่อมโยงงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องดำเนินการในระดับตำบล
- ระบบสมาชิก กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นองค์กรชุมชนที่ดำเนินการในระบบสมาชิก ทุกกองทุนจะรับสมัครสมาชิก สมาชิกทุกคนจะจ่ายเงินสมทบกองทุนตามอัตราที่กำหนด (ส่วนใหญ่วันละ1บาท) และจะได้รับสวัสดิการตามที่กฎระเบียบกำหนด ปกติจะมีการประชุมใหญ่สมาชิกปีละครั้งเพื่อติดตามผลการดำเนินการ เลือกตั้งคณะกรรมการและปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม ความมั่นคงของกองทุนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก ยิ่งสมาชิกมากความมั่นคงยิ่งมีมากเพราะรายรับมีมาก ความเสี่ยงที่รายรับจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายมีน้อยลง อย่างไรก็ นอกเหนือจากการช่วยเหลือสมาชิกแล้ว กองทุนส่วนใหญ่จะช่วยเหลืองานสาธารณะของชุมชนทางด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอหรือกรณีผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถจัดเงินสมทบกองทุนได้ กองทุนก็ให้ความช่วยเหลือ
- การเชื่อมโยงเครือข่าย นอกเหนือจากการทำงานในระดับตำบลแล้ว กองทุนสวัสดิการในทุกจังหวัดมีการเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับจังหวัด เพื่อช่วยเหลือหนุนเสริมการพัฒนาซึ่งกันและกันและร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะ เช่น ประสานงานกับจังหวัด กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดอื่น ๆ ร่วมกัน เป็นต้น ในระดับชาติก็มีการประชุมประจำปีของเครือข่ายเป็นประจำทุกปีเพื่อผลักดันนโยบายร่วมกัน
- ความหลากหลายคือความเข้มแข็ง กองทุนสวัสดิการแต่ละกองทุนจะมีระเบียบการบริหารที่แตกต่างกันไปตามสภาพความพร้อมและสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ บางกองทุนจัดสวัสดิการแค่เกิด แก่ เจ็บ ตาย กองทุนที่มีฐานะการเงินมั่นคงแล้วอาจจะจัดสวัสดิการประเภทต่าง ๆ ครอบคลุมความเดือดร้อนและการพัฒนาสังคมถึงกว่า 20 ประเภท เช่น การช่วยเหลือภัยพิบัติ ที่อยู่อาศัย ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การศึกษา ส่งเสริมการปลูกป่า แก้หนี้นอกระบบ ธนาคารขยะ ฯลฯ
ผลการดำเนินงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563)
รายการ | ภาคกรุงเทพและตะวันออก | ภาคกลางและตะวันตก | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | ภาคใต้ | ภาคเหนือ | รวม |
จำนวนกองทุน | 741 | 738 | 2,199 | 1,106 | 1,246 | 6,030 |
จำนวนสมาชิก(คน) | 725,874 | 501,849 | 1,977,537 | 1,303,496 | 1,386,883 | 5,895,639 |
จำนวนหมู่บ้าน/ชุมชนที่เข้าร่วม | 7,418 | 5,621 | 19,375 | 8,235 | 11,069 | 51,718 |
จำนวนเงินกองทุน(บาท) | 2,207,271,629 | 1,460,265,906 | 5,988,441,978 | 3,272,939,458 | 3,465,998,603 | 16,394,917,575 |
จำนวนเงินจ่ายสวัสดิการ(บาท) | 239,220,112 | 189,287,163 | 1,261,939,006 | 291,343,845 | 386,612,713 | 2,368,402,839 |
แนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน
ระเบียบโครงการพัฒนาสวัสดิการชุมชน