รู้จักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง (พ.ศ. 2559 – 2561) มีเป้าหมายชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร 11,004 ครัวเรือน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อคืนพื้นที่คลองให้กรุงเทพมหานครสามารถสร้างเขื่อนระบายน้ำได้ ขณะเดียวกันชุมชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองจะได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงและถูกต้องตามกฎหมาย มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง ส่งผลด้านภาพลักษณ์ต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงมีการบูรณาการงานของหน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เดือดร้อน และยังเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐที่ทั้งชุมชนและหน่วยงานร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ได้เป้าหมายร่วมกันคือ

“คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

ซึ่งในการดำเนินงานเป็นการปฏิบัติการร่วมกันของหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กองทัพบก กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์  การไฟฟ้า  การประปานครหลวง  สถาบันการศึกษา ฯลฯ

20

การปรับแผนและกลุ่มเป้าหมาย

ต่อมาได้ปรับแผนให้ดำเนินการในพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวก่อน ซึ่งมีชุมชนทั้งหมด 50 ชุมชน 7,069  ครัวเรือน ใน 5 พื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย  1) พื้นที่เขตสายไหม 2) พื้นที่เขตหลักสี่และดอนเมือง 3) พื้นที่เขตบางเขน 4) พื้นที่เขตจตุจักร 5) พื้นที่เขตห้วยขวางและวังทองหลาง  รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยมุ่งเน้น

“การจัดการร่วมกันของชุมชน ในรูปแบบของสหกรณ์”

มีการขยับบ้านเรือน/ครัวเรือนที่รุกล้ำลำคลองขึ้นมาจัดระเบียบร่วมกันตามรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัย ทั้งการก่อสร้างรูปแบบใหม่ในที่ดินเดิม (Reconstruction)โดยการเช่าที่ดินราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์  การรื้อย้ายไปซื้อที่ดินสร้างชุมชนใหม่ (Relocation) รวมทั้งการเช่าซื้ออาคารในโครงการที่มีอยู่แล้วของการเคหะแห่งชาติ

ขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญมีดังนี้ ดังนี้

1) การสร้างความเข้าใจ ให้ข้อมูลเป้าหมาย แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย

2) การสำรวจข้อมูลชุมชน ข้อมูลครัวเรือน

3) การจัดระบบกลุ่มออมทรัพย์  ส่งเสริมการออมต่อเนื่อง

4) การพิจารณาสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย  รับรองสิทธิการอยู่อาศัย

5) การจัดการที่ดิน การเช่าที่ดินราชพัสดุ หรือหาซื้อที่ดินที่ราคา ที่ตั้งเหมาะสม

6) การออกแบบผังชุมชน/ รูปแบบบ้าน

7) การเสนอโครงการและงบประมาณ/ อำนวยสินเชื่อ

8) เตรียมการรื้อย้าย/ก่อสร้างบ้าน  จัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว

9) การเบิกจ่ายงบประมาณและการทำนิติกรรมสัญญา

10) การจัดการงานก่อสร้าง

11) การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆสมาชิกในชุมชน

แนวทางการสนับสนุนโครงการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง