ลพบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท : วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ทีมบริหารขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ภาคกลางและตะวันตก ลงพื้นที่สร้างกำลังใจให้พี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี, เทศบาลตำบลตลุก เทศบาลตำบลหาดอาษา และเทศบาลตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจพี่น้องเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม
เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ผู้บริหารขบวนองค์กรชุมชน นำโดยนายเนตร ปิ่นแก้ว นางกมลปฐมพร กัณหา นายไฟซ้อล บุญรอด เจ้าหน้าที่ภาค และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน รวมประมาณ 430 ครัวเรือน ถือเป็นตำบลตัวอย่างในการจัดการตนเองโดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอก เนื่องจากที่ผ่านมาตำบลพุคาได้เตรียมความพร้อมและรับมือตั้งแต่ยังไม่เข้าขั้นวิกฤต ได้แก่ การจัดตั้งทีมบริหารจัดการน้ำของตำบล การประเมินสถานการณ์และรายงานข่าวผ่านเครือข่ายคุ้มบ้านในแต่ละหมู่บ้าน การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม-น้ำลด) การบริหารจัดการของจาค อาหาร น้ำดื่มและเครื่องยังชีพ โดยมีสภาองค์กรชุมชน ท้องที่ และองค์การบริหารส่วนตำบลพุคาให้การเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดการทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น อสม. ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนและนำส่งผู้ป่วย การอพยพหรือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง (โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการ) ส่งผลให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคีของประชาชนในตำบล ขณะเดียวกันได้มีการวางแผนสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยเพื่อขอรับการสนับสนุนการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ต่อไป
ต่อมาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะผู้บริหารภาคฯ และเจ้าหน้าที่ พอช. ได้เดินทางมายังจังหวัดชัยนาท ร่วมกับ คปอ.จังหวัดชัยนาท ลงพื้นที่เทศบาลตำบลตลุก เทศบาลตำบลหาดอาษา และเทศบาลตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤตน้ำท่วมตั้งแต่เมื่อช่วงวันที่ 28 กันยายน 2565 ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ต้องสร้างเพิงพักอาศัยเป็นการชั่วคราวอยู่บริเวณริมถนน ที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนในฐานะกลไกภาคประชาชนทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในตำบล ประกอบกับอาศัยพลังของประชาชนในการสร้างจิตอาสาชุมชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เช่น การกั้นกระสอบทราย การทำครัวกลางชุมชน การจัดเวรยาม เป็นต้น
สุดท้ายลงพื้นที่ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของจังหวัดสิงห์บุรี ที่ประสบปัญหาจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้มีปริมาณน้ำท่วมสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และพบว่ามีปริมาณน้ำท่วมสูงเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี การดำเนินงานที่ผ่านมาของสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือ ได้เป็นกลไกกลางในการเชื่อมประสานท้องที่ ท้องถิ่น และส่วนราชการ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น มาร่วมวิเคราะห์และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ประกอบกับการได้รับความร่วมมือกับส่วนราชการในการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นด้วย เช่น การเสริมกระสอบทราย การทำครัวกลางชุมชน การจัดหาสะพานน็อคดาวน์และเรือท้องแบน เป็นต้น
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ พบว่าถึงแม้สถานการณ์ทั้ง 3 จังหวัดจะมีระดับน้ำลดลงเรื่อย ๆ แต่ยังคงต้องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 3 จังหวัด มีแผนการทำงานในระยาว โดยเป็นการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางในตำบล การทำความสะอาดบ้านและสถานที่สาธารณะให้กลับสู่สภาพดังเดิมต่อไป
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้นำขบวนองค์กรชุมชน นำโดยนายเนตร ปิ่นแก้ว, นางกมลปฐมพร กัณหา, ดร.จรรยา กลัดล้อม, นายไฟซ้อล บุญรอด, นายธีระวิทย์ บุญเกิด และ น.ท.พยนต์ สำริด กล่าวชื่นชมการทำงานของสภาองค์กรชุมชนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวคิดการใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกกลางในการสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของประชาชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิสังคมในทุกระดับ ขณะเดียวกันยังต้องรักษาและฟื้นฟูจิตใจประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ลงความเห็นให้การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เป็นหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกและจะผลักดันสู่ข้อเสนอระดับชาติต่อไป เพื่อเป็นการตอกย้ำแนวคิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับบริบทชุมชนและวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่ มากกว่าการป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมในพื้นที่เมืองหรือเขตอุตสาหกรรม
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาคกลางและตะวันตก นำโดยนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคฯ กล่าวถึงการเดินทางมาในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนผู้ประสบภัย พร้อมมอบเครื่องอุปโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งได้มีการชื่นชมแกนนำสภาองค์กรชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจดูแลพี่น้องประชาชนจนทำให้วิกฤตผ่านพ้นไปได้ ขณะเดียวกันได้เห็นรูปธรรมการนำเอาปัญหาเป็นตัวตั้งสู่การจัดการตนเองได้ ถือเป็นเรื่องดีที่เป็นนัยยะสำคัญที่ควรยกย่องและถอดบทเรียน เนื่องจากทำให้เห็นว่าพื้นที่กลางของสภาองค์กรชุมชนนั้นสามารถเป็นพื้นที่แห่งการเกื้อกูลและไม่เป็นทางการ มีการแลกเปลี่ยนและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้นำท้องที่/ท้องถิ่นอย่างหลากหลาย โดยเน้นหลักไม่เป็นปฏิปักษ์กับผู้ทุกข์ยากและไม่เอื้อประโยชน์กับนายทุน หนุนเสริมให้ประชาชนเติบโตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนเชื่อมโยงกับภาคีการทำงานในทุกภาคส่วน ถือเป็นสภาองค์กรชุมชนที่มีคุณค่าและเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นต่อไป
รายงาน : ศรสวรรค์ เฉลียว