พอช. / วันนี้ 4 มีนาคม 2565 สำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก ได้จัดเวทีรับชมผลงานออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยใช้ชุมชนมาชิม ชุมชนเฉลิมนุสรณ์ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีนายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วย ผอ. พอช. และเจ้าหน้าที่ภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก สถาปนิก พอช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นำโดย ผศ.ดร.มณฑล จันทร์แจ่มใส นายชัยวัฒน์ รักอู่ อาจารย์จากสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เข้าร่วม กว่า 40 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บริเวณ ลานชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)
โมเดลจำลองชุมชมใหม่ ผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ชุมชนมาชิมและชุมชนเฉลิมอนุสรณ์เป็นชุมชนที่อยู่คู่กับรางรถไฟมานาน ทำให้มีความเคยชินกับลักษณะพื้นที่ มีการขายของริมทางรถไฟ เส้นทางสัญจรบนรางรถไฟ ทำให้คนใชุมชนมีการพบปะพูดคุยส่วนใหญ่ มีการใช้พื้นที่รางรถไฟผืนนั้น ทำให้นำมาปรับเปลี่ยนการอยู่อาศัยใหม่ จึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่า เน้นการออกแบบที่เรียบง่าย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก ที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่เป็นสัดส่วน ปรับเปลี่ยนทางสัญจรเปลี่ยนพื้นที่ส่วนกลาง และเปลี่ยนวิถีชีวิตการค้าขายและทำเลธุรกิจให้ดีขึ้น
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นำเสนอผลงานออกแบบโมเดลที่อยู่อาศัยชุมชน
ในวันนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ เข้านำเสนอผลงานการออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยมีผู้แทนชุมชนเจ้าหน้าที่ พอช. และสถาปนิก เข้าร่วมกับรับฟังการนำเสนอผลงานดังกล่าวด้วย ซึ่งผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในวันนี้ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นแบบบ้านแถว มีทั้งจัดเป็นแนวราบและแนวสูง ประเภทเป็นอาคารชุด และอาคารพักอาศัยรวม มีความแตกต่างจากความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเน้นเป็นการออกแบบเพื่อให้เข้ากับพื้นที่และมีพื้นที่ใช้สอย มีความทันสมัย และทุกผลงานการออกแบบจะเน้นให้มีพื้นที่ส่วนรวมของชุมชน และพื้นที่สีเขียว
โดยวัตถุประสงค์ของการออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชนนั้น คือ การปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่โดยรวมของชุมชน คือนิยามของหลักการพัฒนาในด้านต่างๆ ของชุมชน ทั้งด้านสถาปัตยกรรมพื้นที่ส่วนรวม สุขอนามัย ถนน-ทางสัญจร ฯลฯ ให้เป็นรูปแบบที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับสมาชิกในชุมชนอีกทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของชุมชนดีขึ้นในสายตาของผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านพื้นที่นี้อีกด้วย
ผู้แทนชุมชนร่วมออกแบบและแสดงความคิดเห็นร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ด้านผู้แทนชุมชนได้ให้ความเห็นและเสนอแนะของผลดีผลเสียของแบบที่อยู่อาศัยของชุมชนแต่ละประเภท เพราะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่จริงจึงมองเห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้แทนชุมชนได้ชมตัวแบบบ้าน ที่มีความสวยงาม ทันสมัย และน่าพักเข้าอยู่อาศัย ผู้แทนชุมชนกล่าวชมกลุ่มนักศึกษาอีกว่าเป็นการออกแบบที่รอบคอบ เพราะมองไปถึงเรื่องสังคมรอบด้าน การจัดให้มีพื้นที่ส่วนรวม และมีพื้นที่สีเขียว เป็นการออกแบบที่ทำให้เมืองได้ประโยชน์ไปด้วย
ผศ.ดร.มณฑล จันทร์แจ่มใส อาจารย์สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีและอุตสาหรกรรม
ผศ.ดร.มณฑล จันทร์แจ่มใส อาจารย์สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีและอุตสาหรกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และ พอช. บูรณาการการทำงานร่วมกันมาเป็นเวลา 13 ปี แล้ว วันนี้เราบูรณาการโดยใช้โจทย์จริงคือชุมชนเขตวัฒนา เป็นชุมชนที่อยู่ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ซึ่งได้วางเป้าหมายร่วมกับ พอช. ที่จะเข้าไปพลิกฟื้นพื้นที่ชุมชนผู้มีรายได้น้อย พัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ขาดเรื่องคุณภาพชีวิต เราใช้ศาสตร์ทางด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเข้าไปพัฒนา โดยให้นักศึกษาเข้าไปศึกษาพื้นที่ สำรวจข้อมูล ทำข้อมูล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ พอช. และพัฒนาเป็นงานออกแบบแก้ไขการใช้พื้นที่ให้เกิดโอกาสที่สำคัญใน 3 ระดับด้วยกัน ตั้งแต่ระดับครัวเรือนของที่อยู่อาศัย ระดับชุมชนที่มีการอยู่ร่วมกันของผู้คน และในระดับของเมือง ชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่จะต้องเป็นโยชน์ที่จะต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมืองรอบๆด้วย ทั้ง 3 ระดับนี้คือเป้าหมายของโครงการ โดยใช้แนวความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
สถาปนิก พอช.ให้คำแนะนำในการออกแบบโมเดลชุมชนกับนักศึกษาชั้นปีที่ 4
ผศ.ดร.มณฑล กล่าวต่อว่า “ส่วนที่สำคัญของเวทีนี้คือ เราเปิดโอกาศให้ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยจริงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น วิพากษณ์วิจารณ์ เรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งสามารถที่จะต่อยอดความคิดต่างๆที่จะไปใช้ในพื้นที่จริง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ มีการเชื่อมโยงระหว่างถนนสายหลักคือถนนสุขุมวิท มีทางรถไฟ ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อเนื่อง และมีความเชื่องโยงอีกด้านนึงคือคลองแสนแสบ ซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาการวิ่งเรือ ซึ่งเรียกสั้นๆได้ว่า พื้นที่ยุทธศาสตร์ ล้อ ราง เรือ ก็ว่าได้ ถ้าเรามองพื้นที่จะเห็นได้ว่าพื้นที่มีศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาต่อ ทั้งด้าน พาณิชยกรรม การค้าขาย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย จะทำยังไงให้ศักยภาพของที่ดินถูกใช้อย่างเต็มที่ เราจะพัฒนาคนให้อยู่กับพื้นที่ที่มีศักยภาพนี้ได้อย่างไร นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว เราต้องพัฒนาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปด้วย”
วีดีทัศน์จำลองโมเดลที่อยู่อาศัยชุมชนมาชิมและชุมชนเฉลิมอนุสรณ์
ซึ่งเวทีกิจกรรมในวันนี้ถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับทั้งนักศึกษาและผู้แทนชุมชนเพราะมีการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่จะสามารถนำไปใช้กับพื้นที่ และการแนะนำจากสถาปนิกของ พอช. ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการทำงานพัฒนากับชุมชน ทำให้นักศึกษาได้เห็นมุมมองจากพื้นที่จริง เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข และต่อยอดเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องในสังคมต่อไป
โมเดลที่อยู่อาศัยชุมชนมาชิมและชุมชนเฉลิมอนุสรณ์
ส่วนหนึ่งของผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 แบบบ้านแต่ละแบบ ที่จำลองใช้ในชุมชน