ชาวบ้านมั่นคงสหกรณ์นิคมผ่านศึกพลิกฟื้นที่ดินรกร้างสร้างเศรษฐกิจชุมชน
ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ดินนิคมสร้างตนเองตำบลผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ (อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.) ยังเป็นที่ดินรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นที่ดินที่ทางราชการสงวนเอาไว้เพื่อความมั่นคง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน อยู่ห่างจากเขตแดนไทย-กัมพูชาไม่กี่กิโลเมตร ในขณะที่สถานการณ์ชายแดนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมายังมีสงครามการสู้รบอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อสถานการณ์ชายแดนสงบลง ที่ดินรกร้างผืนนี้จึงถูกนำจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินตำบลผ่านศึก
ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนเครือข่ายที่ดินและที่อยู่อาศัยจังหวัดสระแก้ว บอกว่า จังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่ชายแดน จึงมีที่ดินที่อยู่ในความดูแลของทหารหรือที่ดินที่สงวนไว้เพื่อความมั่นคงเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนมากที่ขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เครือข่ายที่ดินฯ และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วจึงได้บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น หน่วยงานเจ้าของที่ดิน รวมทั้งตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อน สำรวจข้อมูลปัญหาครอบครัวผู้ที่เดือดร้อนและที่ดินที่จะนำมารองรับ
ตัวแทนชาวบ้านร่วมกันสำรวจที่ดิน
“การแก้ไขปัญหาที่ดินที่ตำบลผ่านศึก เราใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลผ่านศึก ร่วมกับตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อน จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับตำบลขึ้นมา โดยร่วมกันสำรวจข้อมูลปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งตำบล และนำข้อมูลมาทำประชาคม ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งตำบลผ่านศึก 1,244 ครัวเรือน พบว่า มีผู้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 79 ครัวเรือน หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลไปพูดคุยกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน และทำเรื่องขอใช้ที่ดินผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เสนอไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา” ละอองดาวเล่าถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา
เขาบอกว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินในตำบลผ่านศึกใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีเศษ เริ่มต้นกระบวนการในปี 2560 ตั้งแต่การจัดเวทีประชุมผู้เดือดร้อน จัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล สำรวจข้อมูล เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ฯลฯ หลังจากนั้นในปี 2561 จึงได้รับการอนุมัติให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของที่ดิน เนื้อที่ 100 ไร่ รองรับประชาชนที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 79 ครอบครัว ในลักษณะให้อยู่อาศัย แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์
พลิกผืนดินรกร้างสร้างเศรษฐกิจชุมชน
สุรพงษ์ เฟื่องรัศมี ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงนิคมผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว บอกว่า หลังจากชาวบ้านได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินแล้ว จึงได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดงานเรื่องที่ดิน โดยชาวบ้าน 79 ครอบครัวได้รับจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างบ้านครอบครัวละ 50 ตารางวา ที่ดินทำกินครอบครัวละ 3 งานเศษ ในลักษณะเช่าที่ดินผ่านสหกรณ์ คือที่อยู่อาศัยไร่ละ 100 บาทต่อปี ที่ดินทำกินไร่ละ 200 บาทต่อปี และต้องทำสัญญาใหม่ทุก 3 ปี โดยในเดือนตุลาคม 2561 มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในที่ดินแปลงนี้ และมีการมอบหนังสือการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้แก่ชาวบ้าน
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลผ่านศึกเมื่อเดือนตุลาคม 2561
“พอขึ้นปี 2562 ชาวบ้านจึงเริ่มเข้ามาปลูกสร้างบ้าน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านและสาธารณูปโภคส่วนกลาง ครอบครัวหนึ่งประมาณ 72,000 บาท ส่วนอาชีพก็จะปลูกพืชผสมผสาน เพราะมีที่ดินไม่เยอะ เช่น ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย กล้วย ผักสวนครัว ส่วนที่ดินส่วนกลางเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ แต่เดิมเป็นที่ดินรกร้าง ชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกสมุนไพรและอ้อยคั้นน้ำ” ประธานสหกรณ์ฯ บอก
เขาบอกว่า นอกจากจะสนับสนุนงบสร้างบ้านแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ยังสนับสนุนงบพัฒนาคุณภาพชีวิตจำนวน 190,000 บาทให้แก่สหกรณ์ฯ เพื่อนำมาทำเรื่องการส่งเสริมอาชีพ สหกรณ์ฯ จึงพาสมาชิกไปดูตัวอย่างการปลูกอ้อยเพื่อคั้นน้ำทำน้ำอ้อยสดที่ตำบลบ้านแหลม จังหวัดจันทบุรี เพราะเห็นว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่โตไว ใช้เวลาปลูกประมาณ 8 เดือนก็สามารถนำมาคั้นน้ำบรรจุขวดขายได้ เริ่มปลูกในปี 2562 ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ใช้น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมักจากมูลวัว
.
อ้อยที่ปลูกเป็นพันธุ์สุพรรณ 50 ให้น้ำเยอะ มีรสหวาน กลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารต้านมะเร็ง ดื่มแล้วสดชื่น แก้กระหาย เริ่มบรรจุขวดขายในปี 2563 ขนาดขวดละ 250 ซีซี ขายราคาขวดละ 10 บาท โดยฝากร้านค้า รถเร่ และผลิตตามสั่ง วันหนึ่งจะผลิตได้ประมาณ 10 โหล หรือ 120 ขวด เดือนหนึ่งหลายพันขวด แต่มาสะดุดในช่วงโควิดแพร่ระบาด
“ข้อดีของการปลูกอ้อยคือ ปลูก 1 ครั้งจะให้ผลผลิตได้นาน 3 ปี นอกจากนี้เรายังปลูกสมุนไพร ใช้พื้นที่ 4 ไร่ ปลูกฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระเจี๊ยบส่งขายพ่อค้า และทดลองปลูกข้าวไร่ รวมทั้งผลิตปุ๋ยมูลสัตว์อัดเม็ด เดือนหนึ่งจะผลิตได้ประมาณเดือน 10 ตัน ราคาขายกิโลฯ ละ 5 บาท หรือตันละ 5,000 บาท แต่ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่ม และทำเพื่อใช้กันเองก่อน” เขาบอก
เขาบอกด้วยว่า ตอนนี้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนิคมผ่านศึกได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ชีวิตก็ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะมีบ้าน มีที่ดินทำกิน แม้จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่ไม่ต้องไปเร่ร่อนทำงานรับจ้างที่ไหน ได้อยู่กับครอบครัว ปลูกผักต่างๆ ส่งขาย มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวประมาณเดือนละ 8,000-9,000 บาท นอกจากนี้สหกรณ์ยังให้สมาชิกทั้ง 79 ครอบครัวร่วมกันออมเงินเข้าสหกรณ์ฯ เพื่อเป็นเงินสะสมของครอบครัว (ครอบครัวหนึ่งต้องถืออย่างน้อย 5 หุ้นๆ ละ 10 บาท) และต้องออมทุกเดือน ปัจจุบันมีเงินออมรวมกันประมาณ 50,000 บาทเศษ
เด็กๆ ในหมู่บ้านสหกรณ์ฯ
“ปีหน้านี้ เราจะทำเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป เน้นการส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ให้ปลูกสมุนไพรขาย เช่น ขมิ้นชัน เพราะตลาดต้องการเยอะ ราคาขายกิโลฯ ละ 25 บาท จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน ตอนนี้ทดลองปลูกแล้วได้ผลดี ถ้าทุกครอบครัวปลูกข้าวเอาไว้กินเองก็จะช่วยลดรายจ่าย เพราะตอนนี้ต้องซื้อข้าวกินทุกวัน” ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงนิคมผ่านศึกบอก
ขณะที่ ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนเครือข่ายที่ดินและที่อยู่อาศัยจังหวัดสระแก้ว บอกในตอนท้ายว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ตำบลผ่านศึกถือเป็นต้นแบบที่จะทำให้ชาวบ้านที่ยากจนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่มั่นคง
“แต่ในจังหวัดสระแก้วยังมีชาวบ้านที่ขาดแคลนที่ดินอีกเป็นจำนวนมาก เครือข่ายที่ดินฯ จึงใช้ตำบลผ่านศึกเป็นต้นแบบ และขยายผลไปยังตำบลมหาวัน ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เช่น อำเภอวังน้ำเย็น ป่าไม้เขต อบต. พอช. โดยเร็วๆ นี้ เครือข่ายฯ จะเสนอขอใช้ที่ดินป่าไม้ที่เอกชนเคยเช่าปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสในตำบลทุ่งมหาวันและตำบลตาหลังใน พื้นที่ประมาณ 800 ไร่ นำมาให้ประชาชนได้เช่าอยู่อาศัยและทำกินต่อไป”
การลงนามแก้ไขปัญหาที่ดินในอำเภอวังน้ำเย็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564
************