Facebook/ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว) ได้โพสน์ข้อความใน facebook วันนี้ (11 ตุลาคม 2564) บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการบ้านมั่นคงที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย ดังนี้
@ ชายแดน (4) บ้านมั่นคงกลุ่มชาติพันธุ์
“คนต้องมีบ้าน” บ้านคือที่ให้ความอบอุ่น ปลอดภัยและความสุข คนทุกคนควรมีบ้าน เพื่อเป็นวิมานของชีวิต แต่ยังมีคนไร้บ้าน หรือคนมีบ้านที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย อีกไม่น้อย
ประสบการณ์ที่1 บ้านมั่นคงเมือง
เมื่อกว่า10 ปีก่อน ผมเคยไปเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคงในเมืองที่อยุธยา พอช.(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) เข้าไปสนับสนุนให้มีกระบวนการชุมชน ชวนคนในชุมชนแออัดคุยกัน เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม แออัด สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตแย่มาก เมื่อชาวบ้านได้คุยกัน พอช.มีงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่ง และมีวิทยากรลงไปช่วยชาวบ้านรวมตัว ร่วมคิด ออกแบบชุมชน ออกแบบบ้านกันเอง จัดผังชุมชนกันใหม่ทั้งหมด ในพื้นที่เดิมที่จำกัดมาก สามารถจัดผังชุมชนได้ลงตัว แถมยังมีพื้นที่สาธารณะส่วนกลางใช้ทำกิจกรรมร่วมกันได้อีก บางบ้านเคยมีพื้นที่มากหน่อย ก็ยอมลดลง ให้เพื่อนบ้านที่อัตคัดพื้นที่ ได้เนื้อที่เพิ่มพอสร้างบ้านมั่นคงหลังน้อยๆ ได้ เกิดการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำที่เต็มไปด้วยหัวใจมนุษย์
พอช.มีกองทุนให้ชาวบ้านกู้สร้างบ้าน ปรับปรุงบ้าน ผ่อนชำระระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ ชาวบ้านมี “บ้านมั่นคง” อยู่อาศัยในพื้นที่เดิม จากชุมชนแออัด กลายเป็นชุมชนน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดีขี้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นเป็นที่ประจักษ์
ประสบการณ์ที่ 2 บ้านมั่นคงชนบท
ราว 6-7 ปีก่อน ได้ไปเยี่ยมโครงการบ้านมั่งคงชนบท ที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอั้งที่เชียงดาว เชียงใหม่ พอช.เข้าไปสนับสนุนในแนวทางเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมตัวร่วมคิด ร่วมปรับปรุงบ้าน สร้างบ้านใหม่ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง อยู่รวมกันเป็นชุมชน จัดระบบระเบียบสภาพแวดล้อมทั่วไปดี คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผมได้เชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์หญิงจากชุมชนแห่งนี้ ไปเล่าเรื่องราวในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนั้นด้วย
ประสบการณ์ที่3 บ้านมั่นคงในที่ดิน สปก.
เดือนมีนาคม 2564 ช่วงที่โควิดพักยก ก่อนเดลต้าบุกหนัก ผมพาคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภา ไปเยี่ยมดูงานบ้านมั่นคงชนบทที่ปากช่อง นครราชสีมา เป็นบ้านมั่นคงในพื้นที่ สปก.ซึ่งคัดเลือกแล้วอนุญาตให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ไม่มีที่ดินทำกินได้เข้าอยู่ พอช.เข้าไปสนับสนุนกระบวนการชุมชนเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านได้รวมตัว ร่วมคิด วางแผนจัดโซนทำเกษตรกรรม โซนอยู่อาศัย จัดกลุ่มสมาชิก ออกแบบแปลงที่อยู่ แบบบ้าน ปลูกบ้านตามใจต้องการกันเอง ในวงเงินงบประมาณไม่สูง มีพื้นที่ส่วนกลางกันเอง พอช.มีเงินกองทุนสนับสนุน ทั้งให้บางส่วนและกู้ยืมบางส่วน
โครงการไปได้ดีมาก ไม่ไช่มีแค่บ้านมั่นคงอยู่อาศัย แต่ยังเกิดความเป็นชุมชน มีกรรมการชุมชน มีกลุ่มทำงานด้านต่างๆ ร่วมคิดร่วมทำในทุกเรื่อง รวมไปถึงการทำมาหากิน และกิจกรรมสาธารณะต่างๆ
ผมเรียกว่าเป็น “สวรรค์บนดิน” ของจริง (เขียน FB 23 มี.ค.2564)
“โครงการบ้านมั่นคง” จึงเป็นอะไรที่มากกว่าชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แต่ยังหมายรวมไปถึงการที่ชาวบ้านมีความเป็นชุมชน ร่วมคิดร่วมทำ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และขยายผลไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ที่มากกว่าที่อยู่อาศัย นับว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เป็นงานที่ดีของ พอช.ที่สนับสนุนมานานมากกว่า20ปีแล้ว
งานนี้ มีบุคคลสำคัญอยู่เบื้องหลังความคิด และสนับสนุนมายาวนาน คือ พี่สมสุข บุญญะบัญชา อดีต ผอ.พอช. ปัจจุบันท่านก็ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำงานสนับสนุนงานบ้านมั่นคงต่อเนื่องเรื่อยมาทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
ประสบการณ์ล่าสุด
ได้ไปเยี่ยมดูงานที่เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ชายแดนไทย-เมียนมา สดๆ ร้อนๆ เมื่อ 8 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา โชคดีที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนชาติพันธุ์ที่บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง ซึ่งกำลังขึ้นรูปโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่นั่นพอดี ซึ่งครอบคลุมประเด็น “การจัดการที่ดิน-ป่าไม้ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต” ไว้ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงชนบทนี้ด้วย
ทราบว่าโครงการได้รับอนุมัติจาก พอช.แล้ว ทีมงานอยู่ในช่วงเข้าไปทำงานกับชุมชน สร้างกระบวนการชุมชน ให้เกิดการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อเตรียมวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาพื้นที่ สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงไปกับเรื่องการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตในแนวทาง “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างยั่งยืน
สภาพที่อยู่อาศัยของชาวบ้านปัจจุบันไม่ดีเลย โครงการบ้านมั่นคงจะเข้าไปสนับสนุนการปรับปรุงบ้าน หรือสร้างบ้านใหม่มีงบประมาณสนับสนุนให้หลังละไม่เกิน 4 หมื่นบาท ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ชาวบ้านสามารถออกแบบเองได้ ปรับปรุงบ้านเดิมก็ได้ ออกแบบสร้างใหม่ก็ได้ตามที่ชอบ โดยมีกระบวนการทำงานพูดคุย ปรึกษาหารือกันทุกขั้นตอนตลอดโครงการ
ได้มีโอกาสไปนั่งคุยกับตัวแทนชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ เนื่องจากเป็นช่วงโควิดระบาด มีคุณอนุสรณ์ คำอ้าย อดีตนายก อบต.เปียงหลวง เป็นแกนนำ มีท่านนายอำเภอ วัชระ เทพกัน นอภ.หนุ่มคนรุ่นใหม่ไปร่วมพบปะด้วย
ฟังแล้วดูดี มองเห็นความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า แม้ยังจะต้องก้าวข้ามปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด ทั้งของภาครัฐ และของชาวบ้านอีกหลายเรื่องก็ตาม
โครงการดีๆ อย่างนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนให้เต็มกำลังและมากกว่านี้ เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับกลุ่มผู้ยากลำบากต่างๆ ทั้งในเมืองและในชนบท เป็นการยกระดับการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปได้พร้อมๆ กัน ตามศาสตร์พระราชาข้อที่ว่าด้วย “องค์รวม” นั่นเอง
แทนที่จะเน้นทำแต่โครงการสำเร็จรูปแยกส่วน คิดตายตัว แล้วสั่งทำเหมือนกันทั้งประเทศ (one fit all) อย่างที่นิยมทำกัน ซึ่งโครงการจำนวนมากเหล่านั้นมักทำให้ “ไหใหญ่-ล้น” ในขณะที่ “ไหน้อย-บ่เต็ม” ต่อไป ตรงข้ามกับโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเน้น “เติมไหน้อย” ให้ได้เพิ่มขึ้นบ้าง ก็ยังดี
ขอบคุณ: คุณพลากร วงศ์กองแก้ว อดีต ผอ.พอช., กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และคุณสุวิมล มีแสง ผช.ผอ.พอช.ภาคเหนือ ที่ปรึกษาอนุ กมธ.แก้จนและลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม วุฒิสภา ที่ให้ข้อมูล และพาไปเยี่ยมโครงการดีๆ นี้ครับ
(บันทึกสว.(478) สว.อำพล: 11 ต.ค.2564)