จากผลที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเชิงเนิน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำเศรษฐกิจฐานราก และโครงการบ้านพอเพียงชนบท ทำให้ประชาชน ในระดับฐานราก เข้าถึงแหล่งงบประมาณจากภาครัฐได้โดยตรง การมีส่วนร่วมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน/ผู้บริหารท้องถิ่นและท้องที่ มีความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นต่อการพัฒนาสังคมของชุมชน ให้เกิดเศรษฐกิจที่ดี ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมภายในตำบล การรักษาวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ร่วมกันทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม อย่างสันติและอย่างมิตรไมตรี
กิจกรรมที่เกิดขึ้น สร้างการเรียนรู้ ปรับความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่ยังขาดโอกาสการพัฒนา กิจกรรมการส่งเสริมการพูดคุยหรือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างกันและกัน โครงการ่างๆที่ได้ผ่านให้สภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการขับเคลื่อน ทำให้ประชาชนถึงแหล่งงบประมาณได้โดยตรง ประชาชนที่ยากจนได้รับโอกาสมากขึ้น ได้รับการแก้ไขได้ตรงกับความต้องการของประชาชน การช่วยเหลือ เอื้ออาทรร่วมกัน ทำให้สังคมในระดับหมู่บ้าน ชุมชน มีความใกล้ชิดมากขึ้น สามารถนำมาร่วมกันพัฒนาให้บ้านเมืองในระดับพื้นที่ตำบล มีความมั่นคง ยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น
ตำบลเชิงเนินเดิมมีชื่อว่าตำบลหนองบัว ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2457 มีนายอึ่ง ทิศา เป็นกำนันคนแรก จนถึงปี พ.ศ.2485 ได้เปลี่ยนชื่อจากตำบลหนองบัวมาเป็นตำบลเชิงเนิน เหตุที่ใช้ชื่อเชิงเนินเพราะบ้านของกำนันคนแรกของตำบล ซึ่งตั้งอยู่ชายเขาตำบลเชิงเนินจึงได้ขอเปลี่ยนเป็นตำบลเชิงเนิน ภูมิประเทศสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของตำบลเชิงเนิน โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะดินเป็นดินทรายไม่เหมาะกับการทำการเกษตร ตำบลเชิงเนินมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 7 หมู่บ้าน และอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านหนองจอก หมู่ที่ 2 บ้านเกาะหวาย หมู่ที่ 3 บ้านหนองบัวแฝง หมู่ที่ 4 บ้านดอน หมู่ที่ 5 บ้านปลวกเกตุ – เนินพุทรา หมู่ที่ 6 บ้านชากใหญ่ และหมู่ที่ 7 บ้านหนองบัว
วัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อขอตำบลเชิงเนิน คือการเล่นหนังใหญ่วัดบ้านดอน ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของประเทศไทยที่สามารถเอาหนังใหญ่มาแสดงให้ชมได้ มีวัฒนธรรมการล่น นาเซฟ ของคนไทยมุสลิม ที่ใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งนับว่าหาได้น้อยมากในพื้นที่ตะวันออก
สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลาง ให้สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลที่เป็นตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน มาร่วมปรึกษาหารือ โดยสมาชิก ได้กำหนดเรื่องการประชุมที่เกี่ยวข้องพื้นที่ของตนเองและนำมาพูดคุยในเวทีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล โดยบางครั้ง ได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารเทศบาลตำบล เข้ามาร่วมในเวทีการประชุม เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน
ดังคำขวัญของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่กำหนดไว้ คือ วัฒนธรรมหนังใหญ่ ไทยพุทธ-มุสลิม เต็มอิ่มวิสาหกิจชุมชน เดินยลแม่น้ำระยอง ผองเพื่อนอุตสาหกรรม ธรรมชาติป่าชายเลน
วิสัยทัศน์ :เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงวัฒนธรรม สร้างเศรษฐกิจชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำป่าชายเลน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น สร้างสังคมน่าอยู่ ชุมชนเป็นสุขอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
เป้าหมาย
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้พื้นที่ตำบลเชิงเนินมีการพัฒนาสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรม
- ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
- ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แม่น้ำและป่าชายเลนให้มีความสมดุล
- ส่งเสริมและสนับสนุนสืบสานถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน
การร่วมคิดร่วมทำของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล
จากการทำงานร่วมร่วมคิด ร่วมทำมาเป็นระยะๆ ทำให้เกิดความคิดที่ดีร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เช่นการแก้ไขปัญหาปากท้องของคนในชุมชน การทำตลาดชุมชน และการช่วยเหลือคนยากจนในเรื่องของโครงการบ้านพอเพียง ที่สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล ได้กำหนดร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดความช่วยเหลือที่ต่อเนื่องและให้เกิดความยั่งยืน มีความมั่นคงของผู้คนในตำบล
ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียง จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จำนวน 55 หลัง งบประมาณทั้งสิ้น 740,000 บาท และงบเสริมความเข้มแข็งของชุมชน จำนวน 30,000 บาท ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฐานรากให้กับผู้คนในชุมชน
จากการดำเนินการที่ผ่านมา ทางผู้บริหารท้องถิ่น ได้ให้ความสำคัญ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลเชิงเนิน และได้รับฟังความคิดเห็นในการทำพื้นที่เศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยได้ให้แนวคิดในการทำตลาดชุมชน ถนนคนเดินเพื่อให้ประชาชนในตำบลสามารถมาจำหน่ายสินค้าที่กลุ่ม องค์กรต่าง ผลิตและมาจำหน่ายในตลาดชุมชนถนนคนเดิน