ตำบลบางหัวเสือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งมีตำบลภายใต้การปกครองจำนวน 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลสำโรง ตำบลสำโรงกลาง ตำบลสำโรงใต้ ตำบลบางหญ้าแพรก และตำบลบางเสือ โดยเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย มีพื้นที่จำนวน 25.50 ตารางกิโลเมตร
ตำบลบางหัวเสือ เดิมเรียกว่า บางศีรษะเสือ แต่ตามราชบัญญัติสถานถือว่าเสือเป็นสัตว์ไม่ควรใช้ศีรษะ
จึงเปลี่ยนมาเป็นบางหัวเสือ ซึ่งจากการค้นคว้าในหนังสือหลายๆ เล่มหรือตามคำบอกเล่า เดิมบางหัวเสือมีมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึง เพราะเป็นป่ารกทึบไม่มีผู้คนให้ความสนใจและการคมนาคมไม่สะดวกจึงไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อสืบค้นจากการสร้างวัดบางหัวเสือ สันนิฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นปี 2300 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังนั้นบางหัวเสือน่าจะอายุมากกว่า 250 ปีมาแล้ว
วิถีชีวิตในอดีตคนบางหัวเสือ
คนในตำบลบางหัวเสืออยู่กันแบบเรียบง่าย มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่กันแบบเครือญาติ เวลามีงานก็จะรวมใจกันทำคนละไม้คนละมือ จะใช้แรงกายและแรงใจ ไม่ใช้แรงเงิน สมัยก่อนความแน่นเฟ้น ขนบธรรมเนียมประเพณีระเบียบวินัยเข้มงวดมาก เช่น เวลาเด็กทำผิดไม่เชื่อฟัง หรือเดินกินของ ก็จะตี (เข้าตำรารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี) แต่ก็ใช้ได้ผล การเลือกคู่ครองคนในสมัยก่อนจะเลือกคู่ครองในละแวกใกล้ ๆ กันไม่เลือกคนต่างจังหวัดเหมือนปัจจุบัน ส่วนมากถ้าคนดั่งเดิมจริง ๆ ก็เป็นเครือญาติกัน รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ เช่น ใบจากมาทำตับจากมุ่งหลังคา ชาวบ้านในตำบลบางหัวเสือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนมะพร้าว ทำน้ำตาลมะพร้าว มีการปลูกหมาก ,มะม่วง, ส้มโอ้, กล้วย พริก ข่าตะไคร้ ใบมะกรูดไว้กินเอง โดยการยกเป็นร่องสวนขึ้น มีการหากุ้ง ปู ปลา ซึ่งมีมากและชุกชุมในลำคลองมาประกอบอาหารกิน น้ำในลำคลองก็ใส่สะอาดสามารถนำมาใช้อาบและบริโภคได้
(ข้อมูลจากคุณยายเปล่ง บุญทวงศ์, คุณสนั่น ดีจริง)
ประเพณีและวัฒนธรรม
วัฒนธรรมของตำบลบางหัวเสือ เมื่ออดีตยังมีชนชาติมอญหลงเหลืออยู่ในวัดบางหัวเสือ คือ เจดีย์รูปเรือสำเภา ซึ่งมีลักษณะคล้ายเจดีย์เรือสำเภาที่วัดยานนาวา กรุงเทพ ปัจจุบันมองไม่เห็นลักษณะของเจดีย์แล้วเพราะทางวัดบางหัวเสือพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ในวัด โดยการนำดินมาถมและไม่ได้ดึงเจดีย์ขึ้นมาก่อน เจดีย์จึงมีลักษณะโดนฝั่งจมใต้ดิน ส่วนในของเจดีย์มีหีบไม้มะเกลือและมีพระพุทธรูป1องค์ซึ่งได้เก็บไว้ในวัด สันนิฐานว่าคงจะสร้างเอาไว้เพื่อเก็บอัฐิของบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายมอญ ปัจจุบันลูกหลานคนที่เคยสร้างเรือสำเภาได้มาสร้างเรือสำเภาใหม่ขึ้น ซึ่งไว้ตรงท่าน้ำวัดบางหัวเสือเพื่อเป็นอนุสรณ์แทนที่เดิมที่ฝั่งดินอยู่ใต้ดิน
ปัจจุบันวิถีดั่งเดิมวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เปลี่ยนไป การทำสวนมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวได้กลายเป็นอดีตเหลือแค่เป็นเรื่องเล่าให้ลูกหลานฟัง ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่คนดั่งเดิมของตำบลแล้ว เพราะเจ้าของที่ดั่งเดิมขายให้กับเจ้าของกิจการบ้านจัดสรร เพื่อนำที่มาสร้างบ้านจัดสรร มีถนนหนทาง และมีโรงงานเกิดขึ้นมากมายภายในตำบลและพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นความต้องการด้านแรงงานมีมาก มีผู้คนเข้ามาอยู่มากขึ้น รวมทั้งลูกหลานก็ไปเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมเพราะมีรายได้ที่แน่นอน ประกอบกับราคาน้ำตาลตกต่ำ วัสดุที่ใช้ทำน้ำตาลก็หาซื้อยาก ปัญหาน้ำเน่าเสีย ต้นมะพร้าวตาย อาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวก็เลยไม่มีใครทำต่อ สังคมทุกวันนี้เกือบจะกลายเป็นสังคมเมืองแล้ว
การแต่งกาย ในอดีตผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ จะนุ่งผ้าถุง โจงกระเบน ผู้ชายใส่เสื้อกุ๋ยเฮง (เสื้อหม้อห่อม) กางเกงขาก๋วย ส่วนใหญ่จะกินหมาก สูบยา เด็ก ๆ ถ้าใครไม่ค่อยแข็งแรงหรือป่วยบ่อยก็จะให้ไว้ผมจุก ผมแกะ ผมเปีย ผมโก๊ะ (ก่อนที่จะไว้ผมต่าง ๆ จะมีการปั้นตุ๊กตาเพื่อให้เด็กเลือกแล้วจึงไว้ผมทรงนั้น) จะมีการโกนจุกออกประมาณอายุ 9 ขวบ และจะจัดประเพณีทางศาสนา การแต่งกายในปัจจุบันผู้หญิงจะใส่กางเกงซะส่วนมาก เสื้อก็เป็นเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต สายเดี่ยว (วัยรุ่น) คนแก่ ๆ ถึงจะยังใส่ผ้าถุงอยู่ เสื้อคอกระเซ้า ผู้ชายก็ใส่กางเกงยีน เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด
- ประเพณีก่อกองทราย ช่วงเทศการสงกรานต์ มีการร่วมมือช่วยกันขนทรายเข้าวัด ทรายที่ไปขนมานั้นจะใช้เรือไปขนมาจากป้อมผีเสื้อฝั่งพระสมุทรเจดีย์ โดยทรายที่ขนมานั้นจะมีการมาก่อแข่งกัน ซึ่งจะมีการจัดประกวด อยู่ 2 แบบ คือใครก่อกองทรายได้หลังใหญ่และสวยงามจะได้เป็นผู้ชนะหรือถ้ากองทรายไหนมีเงินปักยอดทรายได้เยอะก็จะเป็นผู้ชนะ
- ประเพณีสงกรานต์ 13-14-15 เมษายน แต่ละชุมชนจะมีการจัดแต่งขบวนอย่างสวยงานเพื่อมาแข่งขันกัน สมัยก่อนนางเทพีจะเดินพร้อมขบวน ต่อมาจะมีเสรี่ยงหาม และเปลี่ยนมานั่งรถในขบวน จะมีการแห่วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เวลา 15.00น. เวลากลางคืนมีการประกวดเทพีสงกรานต์และมีมหรสพ (จัดที่วัดบางหัวเสือ)
- งานอาหารดีเจดีย์หน้าวัด สมัยก่อนจะเรียก “งานเจดีย์หน้าวัด” จะจัดตรงกับ แรม 7 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับงานพระสมุทรเจดีย์ (งานพระสมุทรเจดีย์จะมีการสมโภช 9 วัน 9 คืน เริ่มงานวันแรก 5 ค่ำ เดือน11) มีการจัดขายอาหารมากมายในวันนั้น เพราะสมัยก่อนจะมีคนมาข้ามเรือที่ท่าวัดบางหัวเสือเพื่อไปเที่ยวงานพระสมุทรเจดีย์ ขากลับก็จะแวะซื้ออาหารติดไม้ติดมือก่อนกลับเข้าบ้าน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 3 วัน (จัดที่วัดบางหัวเสือ)
- งานอุปฌายาจารย์ จะจัดงานอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมกราคมของทุกปีจัดงานอยู่ 1 วัน สมัยก่อนจัดงานนี้เพื่อปิดทอง ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปฌายาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ปัจจุบันชุมชนต่าง ๆ ได้ร่วมกันนำอาหารทั้งคาวและหวานต่าง ๆ มาเลี้ยงพระและคน อาหารวันนี้มีมากมายสามารถกินฟรีทุกอย่าง (จัดที่วัดบางหัวเสือ)
สถานที่ท่องเที่ยวชุมชน สืบสานภูมิปัญญาชมโบราณสถาน โบราณวัตถุ
- ตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือ
ภาพร้านค้าบางส่วนในตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือ
- วัดในตำบลบางหัวเสือมี 2 วัด ได้แก่
- วัดบางหัวเสือวัดบางหัวเสือ
ประวัติความเป็นมา วัดบางหัวเสือไม่มีชื่อและประวัติในกรมการศาสนาไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เมื่อสืบค้นข้อมูลการสร้างวัด สันนิฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นปี 2300 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (250 ปีมาแล้ว) วัดบางหัวเสือเดิมเรียกว่า วัดบางศีรษะเสือ ที่เปลี่ยนจากศีรษะเสือมาเป็นหัวเสือเพราะตามราชบัญญัติเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะเสือเป็นสัตว์ไม่ควรใช้ศีรษะ จึงเปลี่ยนมาเป็นบางหัวเสือแทนสมัยหลวงพ่ออยู่ แต่มีเรื่องเล่าว่ามีเสือกับจระเข้กัดกันตาย ซึ่งเป็นปริศนาธรรมให้คิด
เรื่องเล่าต่อมา พระเจ้าตากสินขนเสบียงและมาพักทัพที่บางหัวเสือ มีพระพุทธรูปมา 3 องค์ ซึ่งเป็นทองเนื้อสัมฤทธิ์ โบสถ์เก่าของวัดเป็นฉางข้าวของพระเจ้าตากสิน
มีพระพุทธรูปน้ำหยด (หลวงพ่อน้ำมนต์ทิพย์) เป็นพระรูปลักษณะหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ปางพระประจำวันพุธอุ้มบาตร เดิมอยู่มณฑปศาลาการเปรียญหลังเก่า เมื่อทางวัดมีโครงการที่สร้างมณฑปและศาลาการเปรียญหลังใหม่ เมื่อวันเข้าพรรษา ปี 2550 จึงให้ย้ายพระต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 29 องค์มาไว้อีกฝั่งหนึ่ง เมื่อย้ายมาถึงองค์ท่านคนที่ทำการย้าย ก็สังเกตเห็นน้ำไหลออกมาระหว่างอุ้งมือที่อุ้มบาตร เมื่อดูที่บาตรก็ไม่มีน้ำขังอยู่มีเพียงแค่เศษฝุ่นเกาะอยู่ซึ่งน่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก ปกติแล้วก็ไม่ได้มีใครสังเกตเห็นว่ามีน้ำไหลออกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องปาฏิหารที่อยู่ ๆ ก็มีน้ำไหลออกมาที่อุ้งมือท่าน และในระหว่างเข้าพรรษา 3 เดือนน้ำก็ไหลออกมาทั้งวันทั้งคืน ปัจจุบันก็ยังมีน้ำหยดออกมาบ้างแต่เล็กน้อย
2.วัดบางฝ้าย ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
บรรยากาศภายในวัดจึงค่อนข้างร่มเย็น มีบริเวณท่าน้ำที่ร่มรื่นน่าพักผ่อน เป็นมุมสงบอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจภายในวัด
สภาองค์กรชุมชนตำบลบางหัวเสือ เพื่อให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองตามวิถีชีวิต ในปัจจุบัน นอกจากจะต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบตามนโยบายรัฐทำให้สถานประกอบการปิดกิจการ สภาองค์กรชุมชนตำบลบางหัวเสือ จึงมีการปรึกษาหารือกับกลุ่มคนที่ถูกจ้างออกจากงาน กลุ่มคนตกงาน จึงได้มีการจัดที่จำหน่ายสินค้าชุมชนในวัดบางหัวเสือ ต่อมาได้ประสานกับเจ้าอาวาสวัดขอสถานที่จัดตลาดริมน้ำบางหัวเสือเพื่อให้คนในชุมชนมีแหล่งจำหน่าย และนำสิ่งของต่างๆ มาจำหน่ายในวันเสาร์และวันอาทิตย์
ตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือ
ในอดีตที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรปราการมีการจัดงานใหญ่ที่มีขึ้นเพียงปีละครั้ง นั่นคือ “งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์” จัดขึ้นตั้งแต่วันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 9 วัน 9 คืน ชาวบ้านแทบทุกคนจะรอคอยที่จะได้ไปเที่ยวชมงาน โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นจะเป็นการเดินทางโดยทางเรือ
ผู้ที่ไปเที่ยวงานนี้จึงมักต้องมาลงเรือบริเวณหน้าวัดบางหัวเสือ โดยเฉพาะวันแรม 7 ค่ำ เดือน 11ชาวบ้านจะมาลงเรือกันมากเป็นพิเศษ พ่อค้าแม่ค้ารวมถึงชาวบ้านในละแวกนั้นจะนำสินค้าและอาหารหวานคาวที่มีรสชาติอร่อยจากฝีมือชาวบ้านเองมาวางขายบริเวณหน้าวัดบางหัวเสือเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อการคมนาคมทางรถยนต์มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่เดินทางโดยทางเรือเพื่อไปงานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์หันมาใช้การทางโดยรถยนต์แทน ส่งผลกระทบต่อการค้าขายบริเวณท่าเรือหน้าวัดบางหัวเสือที่เคยอดีตเคยคึกคัก กลับเงียบเหงาลง บรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ในเคยมาวางขายบริเวณนี้จึงมีให้เห็นเพียงประปราย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ทางวัดบางหัวเสือได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่มีความประณีตสวยงามมาก เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย (สุขาภิบาลสำโรงใต้ในขณะนั้น) จึงได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณภายในวัดบางหัวเสือ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ผู้นำชุมชนประชุมกันกับท่านเจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ หารือเรื่องสิงดีๆหรือของดีเมื่ออดีต ท่านเจ้าอาวาสฯได้มีดำริที่จะฟื้นฟูงานประเพณีนี้ขึ้นมาอีก เพื่อมิให้ประเพณีดั้งเดิมเลือนหายไป ทางวัดจึงได้ร่วมกับชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ในตำบลบางหัวเสือ โดยมีเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดงานโดยใช้ชื่องานว่า “อาหารดีเจดีย์หน้าวัด” เป็นประจำทุกปีเรื่อยมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริม และสนับสนุนให้วัดบางหัวเสือเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมือง โดยการส่งเสริมให้เกิด “ตลาดริมน้ำบางหัวเสือ” ซึ่งมีการจำหน่ายอาหารรสชาติอร่อย ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมตลาดและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่น โดยมีเทศบาลเมืองปู่เจ้าสนับสนุนทุกปี และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาช่วยสนับสนุน ผู้บริหารเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย ที่นำโดย ดร.สรรเกียรติ กุลเจริญ นายกเทศมนตรีฯ ได้สืบสานงานอาหารดีเจดีย์หน้าวัด จัดทำเป็นโครงการเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเทศบาล และสภาเทศบาล ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานจำนวน 450,000 บาท โดยมีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
- จัดประชุมผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบลบางหัวเสือ ผู้แทนชุมชนทุกชุมชน ผู้แทนจากโรงเรียนในตำบลบางหัวเสือ ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมงาน คณะกรรมการวัด เจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองการศึกษาซึ่งเป็นแม่งานของเทศบาลฯ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงาน และมีการมอบหมายงานในหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนกำหนดรูปแบบการจัดงาน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและสมบูรณ์แบบ
- ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานในแต่ละฝ่ายติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมต่างๆ
- เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ/ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายมาเป็นประธานในการเปิดงาน โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ประกอบด้วย อำเภอพระประแดง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ และประชาชน ให้เกียรติมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน คือตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือแต่เดิมเป็นทางเดินไปสู่ท่าน้ำท่าเรือของชุมชนที่ใช้เดินทางไปจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง และอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นตลาดนัดขายกับข้าวยามเย็น ปัจจุบันและชุมชนได้ใช้ที่ส่วนหนึ่งของวัดจัดเป็นตลาดริมน้ำมีร้านค้าแบบโบราณ นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกกระจายกันอยู่ทั่วไปในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ตลาดน้ำวัดบางหัวเสือ มีทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกย่างภายในวัดนักท่องเที่ยวสามารถ เลือกซื้อ เลือกชิม อาหารหลากหลายที่แสนอร่อย ขึ้นชื่อเป็นที่เลื่องลือ นำชื่อเสียงมาสู่ตำบลบางหัวเสือ เช่น ขนมครก ขนมจี แหนมเนือง ปลาแห้ง ไข่เค็ม ฯลฯ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ คือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าว ผลลูกมะพร้าวและลูกตีนเป็ด ฯลฯ ตลาดริมน้ำของชุมชนวัดบางหัวเสือ หรือตลาดน้ำในปัจจุบันเป็นโครงการของเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย โดยความร่วมมือ ร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่นช่วยกันฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้และส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน โดยชาวบ้านจะนำสินค้าจากสวนในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งอาหารคาวหวานมาขายในวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 08.00 – 15.00 น.
แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือ เป็นการแก้ไขปัญหาหรือเป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อชุมชน ต้องสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมในสิ่งแวดล้อมรวมแก้ไขปัญหามลภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบ ต่อชุมชน ไม่ให้เกิดมากขึ้นหรือแก้ไขให้ลดลง รวมถึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ท้องถิ่น และทุกภาคส่วน ในการวางแผนการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือ มีแม่ค้า มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ยิ้มสวย อาหารอร่อย และราคาเป็นกันเอง เช่น อาหาร คาวหวาน ที่อร่อย และของที่ระลึก ตลาดริมวัดบางหัวเสือ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และนักท่องเที่ยววันละ ประมาณ 100 คนขึ้นไป เข้ามาเที่ยวตลาดริมน้ำวัดบางหัวเสือ ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว
อยู่ที่คนละ 500 ถึง 1,000 บาท การคมนาคมที่เข้ายังแหล่งท่องเที่ยวสะดวก เช่น ทางน้ำ โดยใช้ท่าเรือข้ามฝากจุดที่ 1 หน้าไทยเกรียง จุดที่ 2 หน้าอำเภอพระประแดง ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางปู่เจ้าสมิงพราย เข้าทางวัดสวนส้ม และ เส้นทางจักรยาน