พื้นเพชาวดงขี้เหล็กเป็นคนลาวเวียงจันทน์ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.2440 ชาวลาวกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาปักหลักทำมาหากินอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี โดยก่อตั้งหมู่บ้านในบริเวณที่ดอน มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มีต้นขี้เหล็กขึ้นอยู่ชุกชุม ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดงขี้เหล็ก” ภายหลังเมื่อมีหมู่บ้านต่างๆ เกิดขึ้นหนาแน่น ทางราชการจึงจัดตั้งขึ้นเป็นตำบล
ปัจจุบันตำบลดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี มีพื้นที่ประมาณ 35,000 ไร่ มี 14 หมู่บ้าน จำนวน 3,535 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 10,300 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกไผ่ตง ไม้ประดับ ไม้ดอก สมุนไพร รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ
บนเส้นทางสู่การจัดการตนเอง
ย้อนหลังไปในอดีต คนดงขี้เหล็กต่างดำรงชีวิตและทำมาหากินด้วยการพึ่งพาตนเอง พึ่งพาอาศัยซึ่ง กันและกัน รวมถึงพึ่งพาทรัพยากรจากธรรมซาติในพื้นที่อย่างสมดุล โดยชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ต่อมาเมื่อการพัฒนาต่างๆ เริ่มเข้ามาใน พื้นที่และขยายตัว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งที่เป็นโอกาสและผลกระทบ ที่เห็นได้ชัดเจนคือปัญหาเรื่องหนี้สินอันเนื่องมาจากการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชเชิงเดี่ยว
นายบรรจง พรมวิเศษ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก เล่าว่า จากปัญหาดังกล่าวจึง นำมาสู่การรวมตัวของคนดงขี้เหล็กในปี 2524 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการส่งเสริมการออมเงิน โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นมา ให้สมาชิกออมเงินเป็นรายเดือน ใครมีมากออมมาก ใครมีน้อยออมน้อย มีสมาชิกเริ่มแรก 48 คน มีเงินออมรวมกัน 1,150 บาท เป็นการจุดประกายความคิดให้คนดงขี้เหล็กต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ระดมทุนจากภายใน เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น
จากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในปีต่อๆ มาจึงขยับขยายไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล เช่นปี 2528 – 2534 จัดตั้ง ‘ชมรมอนุรักษ์พิทักษ์เขาชีปิด’ เพื่อร่วมดูฟื้นฟูเขาชีปิดพื้นที่ 1,300 ไร่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ร่วมกันทำแนวเขตกันไฟป่า สำรวจป่า ต้นไม้ พรรณไม้ สมุนไพร ฯลฯ
ปี 2535 – 2536 ร่วมกันจัดตั้ง ‘กลุ่มผู้ใช้น้ำคลองเกษียร’ สำรวจข้อมูลและเส้นทางน้ำ วิเคราะห์ปัญหาการใช้น้ำคลองเกษียร
ปี 2537 เกิดวิกฤติไผ่ตงออกดอก ไผ่ตงที่ปลูกเอาไว้ตาย เกษตรกรได้รับความเสียหาย จึงเปลี่ยนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับ แต่ต้องใช้น้ำมากกว่า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลและไม้ดอกไม้ประดับ แกนนำพัฒนาในตำบลจึงนำข้อมูลจากการสำรวจการใช้น้ำคลองเกษียรในปี 2535 มาพัฒนาจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในตำบล ฯลฯ
ผังชีวิตชุมชนคนดงขี้เหล็ก
ปี 2548-2550 ชุมชนร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พัฒนาชุมชน (พช.) เกษตรอำเภอ และสาธารณสุข สำรวจข้อทุกมิติ เพื่อบริหารจัดการวางแผนชุมชนร่วมกันทุกภาคส่วน โดยจัดทำ ‘แผนพัฒนาตำบล’ หรือ ‘ผังชีวิตชุมชนคนดงขี้เหล็ก’ ขึ้นมา โดยชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการออกแบบ หน่วยงานภาคีหนุนเสริมพัฒนา พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลทุกมิติที่จำเป็นเร่งด่วนของตำบล เช่น ข้อมูลน้ำ ข้อมูลพื้นที่ แผนที่ตำบล การเข้าถึงสวัสดิการชุมชนของคนในตำบล โดยขบวนองค์กรชุมชนได้ร่วมกันทำแผนที่ทำมือ ข้อมูล ศักยภาพตำบล ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ฯลฯ จากการสำรวจข้อมูลพบปัญหาอันดับแรกของตำบล คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และน้ำหลากในช่วงฤดูฝน
ปี 2549 ชุมชนร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือดูแลกัน มีสมาชิกเริ่มแรก 751 คน ช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิก เช่น เกิด ออมครบ 360 วัน จ่ายทำขวัญลูก 500 บาท จ่ายแม่นอน รพ.คืนละ 100 บาท ไม่เกิน 5 คืน เจ็บ ออมครบ 180 วัน ป่วยนอน รพ. จ่ายคืนละ 100 บาท ปีละไม่เกิน 10 คืน ตาย ออมครบ 180 วัน จ่ายค่าทำศพ 3,000 บาท (สูงสุดจ่ายค่าทำศพ 30,000 บาท) ฯลฯ
ในปี 2551 ชุมชนร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลดงขี้เหล็กขึ้นมา ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเป็นเวทีชาวบ้านในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล นอกจากนี้สภาฯ ยังสามารถนำข้อมูลความเดือดร้อนของชุมชนนำเสนอเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นและจังหวัดแก้ไขได้ด้วย