สืบเนื่องจากเหตุการณ์พายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ พัดถล่มพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีประชาชนได้รับผลกระทบ 199,864 ครัวเรือน รวม 679,257 คน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง 244 หลัง และพังเสียหายบางส่วน 43,897 หลัง
สภาองค์กรชุมชนตำบลขนาบนาก นำข้อมูลดังกล่าวมาสู่การเปิดเวทีกลาง วิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช สภาองค์กรชุมชนตำบลหลายแห่ง โดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชนตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน เพื่อซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยโดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
สภาฯ ใช้พื้นที่บ้านหน้าโกฏิ ม.10 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะการซ่อมแซมบ้านเรือนและสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ประสบภัย สภาองค์กรชุมชนตำบลขนาบนาก และชุมชน ได้ทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายผู้นำท้องที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และอำเภอ โดยมีเป้าหมาสำคัญในการช่วยกันซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน แต่การซ่อมแซมนี้ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะปัญหาหลักของชาวบ้านที่นี่คือเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย เพราะส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นในระยะต่อไปจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยให้เกิดความมั่นคง โดยการจัดหาที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งก็จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน หรือหากจะอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนี้ต่อไปก็จะต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะต่อไป คือ ช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสังคม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือ พมจ. ได้เข้ามาจัดกระบวนการ ทบทวนข้อมูล ช่วยดูแล ขณะเดียวกันสภาองค์กรชุมชนตำบลขนาบนากได้มีการนำเสนอปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดิน โดยเสนอผ่านอำเภอไปสู่จังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำเสนอไปสู่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป
ทั้งนี้ในพื้นที่อำเภอปากพนังได้มีกระบวนการในการแก้ไขปัญหา โดยแยกเป็นสร้างบ้านใหม่ 12 หลัง และซ่อมแซมบ้าน 47 หลังคาเรือน รวมทั้งหมด 59 หลังคาเรือน โดยในวันนี้มีการยกเสาเอกเพื่อสร้างบ้านใหม่จำนวน 3 หลัง
นายปัญญา เหมทานนท์ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนสายน้ำปากพนัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์พายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ พัดถล่มในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ในจังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 199,864 ครัวเรือน จำนวน 679,257 คน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง 244 หลัง และเสียหายบางส่วน จำนวน 43,897 หลัง ในจำนวนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าดำเนินการซ่อมแซมแล้วเบื้องต้น จำนวน 6,902 หลัง
ส่วนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสภาองค์กรชุมชน 5 ตำบล ร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยเบื้องต้น โดยมีแผนดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยโดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 10 อำเภอ มีผู้เดือดร้อนทั้งสิ้น 548 ครัวเรือน แบ่งเป็น ซ่อมแซม 518 ครัวเรือน และสร้างใหม่ 30 ครัวเรือน
แยกเป็น อำเภอเมือง 39 ครัวเรือน อำเภอเชียรใหญ่ 35 ครัวเรือน อำเภอชะอวด 27 ครัวเรือน อำเภอร่อนพิบูลย์ 2 ครัวเรือน อำเภอจุฬาภรณ์ 114 ครัวเรือน อำเภอขนอม 10 ครัวเรือน อำเภอท่าศาลา 59 ครัวเรือน อำเภอสิชล 180 ครัวเรือน อำเภอหัวไทร 23 ครัวเรือน และอำเภอปากพนัง 59 ครัวเรือน
ทั้งนี้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จ.นครศรีธรรมราช และ พอช. จะรับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะการซ่อมบ้านให้กับครัวเรือนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย คือ เป็นบุคคลที่มีบ้านเป็นของตัวเองแต่สถานะที่ดินไม่ชัดเจน หรือไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยจะดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ ซึ่งการก่อสร้างและซ่อมแซมบ้านจะดำเนินการโดยใช้ช่างชุมชนที่เป็นสมาชิกในโครงการบ้านมั่นคงร่วมกันลงแรงร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่
ทั้งนี้มีหลักคิดสำคัญ ในการให้ชุมชนเป็นแกนหลัก และมีการวางแนวทางการช่วยเหลือที่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลัก ตั้งแต่การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน ประสานความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบภัย
“สำหรับแผนการดำเนินการฟื้นฟูชุมชนหลังประสบภัยพิบัติในลำดับต่อไปที่เป็นแผนของสภาองค์กรชุมชน คือ จะมีการช่วยเหลือครัวเรือนผู้เดือดร้อนด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการซ่อมหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น เรื่องอาชีพ ปัญหาที่ดิน โดย พอช. จะบูรณาการข้อมูลในส่วนที่ พอช. สำรวจ ร่วมกับ พมจ. ท้องที่ ท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป”
ขณะเดียวกันชุมชนก็จะต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ โดยตั้งแต่ปี 2560 พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ในภาคใต้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้จัดทำแผนงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ เริ่มจากพื้นที่ 7 จังหวัด 49 ตำบล จำนวน 62 โครงการ เพื่อจัดทำแผนงานในระดับตำบล เช่น มีข้อมูลต่างๆ ในตำบล มีแผนที่ตำบล การไหลของน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ปลอดภัย จุดอพยพคนและสัตว์ จุดทำครัวกลาง มีกิจกรรมการพัฒนายกระดับอาสาสมัคร มีการจัดทำแผนรับมือเมื่อเกิดภัยในตำบลที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย มีกิจกรรมการระดมทุนเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนต่างๆ
ทั้งนี้ สภาฯ มีหลักคิดสำคัญ ในการนำเข้ากระบวนการ นโยบายสาธารณะขั้นก่อตัวของนโยบายสาธารณะ ซึ่งจากการเกิดภัยพิบัติและการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐเข้ามาอาจดูแลไม่ทั่วถึง และขาดการร่วมมือของประชาชนเป็นบทเรียน จึงมีการจัดเวทีประชุมของชุมชนในการจัดการตนเองโดยให้สร้างศูนย์การจัดการภัยพิบัติเป็นกลไกให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติ
การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการจัดการภัยพิบัติเกิดจากการเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติ การสร้างระบบการจัดการภัยพิบัติเกิดจากประสบการณ์และภูมิปัญญาชาวบ้าน การรับมือภัยพิบัติ ของชุมชน หัวใจหลักที่สำคัญในการจัดการคือการเตรียมความพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟู ซึ่งชุมชนจะมีความเข้าใจพื้นที่เป็นอย่างดี ส่วนบทบาทองค์กรภายนอกนั้นควรเป็นบทบาทในการหนุนเสริมสนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้
สภาองค์กรชุมชนตำบลขนาบนาก ได้นำแผนพัฒนาระดับตำบลต่อองค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก และได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี (ปี 2561 – 2564) ได้แก่ (1) โครงการกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 30,000 บาท เพื่อส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขนาบนาก (2) โครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 80,000 บาท เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยในพื้นที่ได้ และ (3) โครงการสนับสนุนกลุ่มอาชีพต่างๆในตำบลขนาบนาก จำนวน 30,000 บาท เพื่อลดการว่างงานและเพื่อรายได้ให้แก่กลุ่มอาชีพ
ขั้นการกำหนดทางเลือกเชิงนโยบาย
การช่วยเหลือจากหน่วยงานของภาครัฐ เกิดปัญหาเรื่องระเบียบกฎหมาย เช่น กรณีในที่ดินรัฐ และการบริหารจัดการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นต้องจัดการตนเองเพื่ออยู่กับภัยพิบัติและเอาตัวรอด การจัดเตรียมอุปกรณ์ตามความพร้อม การเตรียมการโยกย้ายสิ่งของการขนย้ายคน ทรัพย์สิน เข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก่อนถึงช่วงฤดูกาล ประสบการณ์ดังกล่าวชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น เกิดการรวมตัวกันในระดับหมู่บ้าน โดยอาสาสมัครผ่านการจดแจ้งของสภาองค์กรชุมชน เข้ามาจัดการภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ของตนเองและหมู่บ้านใกล้เคียง และสามารถพัฒนาให้เป็นนโยบายสาธารณะต่อไป
ในระดับชุมชนมีการจัดตั้ง “ศูนย์การจัดการภัยพิบัติชุมชน” มีการจัดตั้งคณะกรรมการจาก 3 ภาคส่วนในพื้นที่เข้ามาทำงานบริหารจัดการในภาพรวมของทั้งตำบลทั้งในส่วนของการประสานงาน การจัดหาทุน การรับบริจาคสิ่งของเพื่อการช่วยเหลือของชุมชน การวางระเบียบศูนย์การจัดการภัยพิบัติเพื่อการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมหลักสูตรอาสาสมัครการจัดการภัยพิบัติและการเชื่อมโยงสร้างภาคีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนในตำบลต่างๆ โดยการมีส่วนร่วมของ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ องค์กรภาคประชาชน ผู้มีจิตอาสาเข้ามาเป็นอาสาสมัคร องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ สาวัตร และภาคีส่วนราชการ บริษัท ห้างร้าน ภาคเอกชน
ผ่านโครงการจิตอาสาตามพระราโชบายของในหลวง รัชกาลที่ 10 โดยทั้งสี่ภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ โดยมีภารกิจ คือ การจัดการ ป้องกันภัยพิบัติ ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และมีการฟื้นฟูหลังเกิดภัย มีเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดการภัยพิบัติ จัดหาและพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พัฒนาระบบข้อมูล ชุดความรู้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติในชุมชน จัดระบบการบริหารการจัดการศูนย์การจัดการภัยพิบัติชุมชน เช่นโครงสร้าง บทบาทหน้าที่
นำมาสู่ กระบวนการจัดการศูนย์การจัดการภัยพิบัติและกองทุนกลางการจัดการภัยพิบัติ ใช้กลไกของคณะกรรมการศูนย์ฯการวางกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรกองทุนที่เป็นไปอย่างมีระบบและมีหลักฐานเพื่อการอ้างอิงโดยอาศัยบุคลากรในกองทุนเป็นผู้บริหารจัดการโดยผ่านมติของคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย สังคม และเตรียมรับมือในเหตุภัยพิบัติครั้งต่อไปจากบทเรียนที่ดำเนินการมา