ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสมักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม เพราะด้วยความพิการจึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนกับคนปกติ ทำให้ไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงดูตนเองได้ และกลายเป็นภาระของครอบครัวและชุมชนในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ทาง สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลขุนทะเล กองทุนสวัสดิการชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้นำแนวคิด “ชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน” มาเป็นหลักในการทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะให้เกิดแก่ชุมชนโดยเฉพาะผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ผ่านการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่าย เน้นการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำทุนทางสังคมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหลอมรวมเข้ากับนโยบายการพัฒนาตำบล จนเกิดเป็นกิจกรรมการบริการสุขภาพที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนในทุกมิติ
สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ ตำบลขุนทะเลจึงกลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ให้กับชุมชนอื่นๆ โดยมีจุดเด่นที่ระบบการจัดสวัสดิการให้กับชุมชน ด้วยการสร้างให้สมาชิกทุกคนตระหนักว่าอนาคตและความยั่งยืนจะเกิดขึ้นในชุมชนได้นั้น จะต้องเกิดขึ้นจากความคิดและความต้องการคนในชุมชน
ด้วยแนวคิดชุมชนไม่ทอดทิ้งกันจึงเกิดเป็นโครงการต่างๆ รวมถึงจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ดูแลสวัสดิการต่างๆ ให้กับสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้กับกลุ่มผู้พิการที่เกิดขึ้นจากบริบทพื้นฐานของคนที่อยู่ชายขอบมารวมตัวกันประกอบอาชีพโดย อบต.และชุมชนร่วมกันสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เขามีชีวิตได้อย่างปกติ มีคุณค่าและไม่ถูกสังคมทอดทิ้ง
ทั้งนี้ ชุมชนเน้นในเรื่องการบริหารจัดการคน โดยเฉพาะคนชายขอบหรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข เช่นคนที่พิการ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นเราจึงเน้นไปที่การดูแลผู้ด้อยโอกาส เพราะกลุ่มนี้ก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม แต่สังคมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญและดูแลคนกลุ่มนี้ เราจึงให้ความสำคัญว่าทำอย่างไรให้คนพิการออกสู่สาธารณะ ทำอย่างไรให้เขามีสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเมื่อทุกคนในชุมชนมีสุขภาพดี มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ สังคมก็จะเข้มแข็งไปด้วย แต่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญคือคนในชุมชนจะต้องเห็นความสำคัญและมีจิตอาสาที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
รูปธรรมด้านการส่งเสริมรายได้ในระบบเศรษฐกิจชุมชน อาทิเช่น ในปัจจุบันกลุ่มเพาะเห็ดมีสมาชิก 10 คน เป็นคนพิการทั้งหมด โดยเฉลี่ยแล้วจะเก็บผลผลิตได้วันละ 10 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 100 บาท แล้วก็ยังนำเห็ดกลับไปรับประทานที่บ้านได้ ทุกวันนี้ผู้พิการทุกคนมีรายได้และส่วนแบ่งจากการขายเห็ดนางฟ้าและเห็ดภูฐานทุกวัน เมื่อมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงลูกและครอบครัวได้ ชีวิตก็ดีขึ้น สังคมและชุมชนก็ให้การยอมรับและช่วยกันสนับสนุน
สำหรับ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขุนทะเล อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี2551 โดยอาสาสมัครผู้ดูแลคนพิการ มีสมาชิกเริ่มต้น 351 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 3,779 คน จากประชากรทั้งตำบลประมาณ 10,075 คนใน 12 หมู่บ้าน มีเงินทุนตั้งแต่จัดตั้ง 3.4 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือ 3.6 ล้านบาท ซึ่งประมาณร้อยละ 70 มาจากการสมทบของสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ
นางสาวรัชนี ธงทอง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขุนทะเลกล่าวว่า ตนเองและคณะกรรมการกองทุนหลายคนเป็นผู้พิการ ซึ่งในตำบลมีผู้พิการและคนแก่รวมกว่า 400 คน กองทุนจึงมีกิจกรรมอาสาสมัครเยี่ยมคนพิการและคนแก่ทุกเดือนร่วมกับอาสาสมัครเยาวชนในตำบล
นอกจากนี้ยังช่วยเหลือคนพิการเป็นกรณีพิเศษโดยทุกหมู่บ้านที่มีสมาชิก 50 คนขึ้นไป ให้คณะกรรมการคัดเลือกคนพิการ1คนเป็นสมาชิกโดยไม่ต้องส่งเงินสัจจะออมทรัพย์ แต่ได้รับเงินช่วยเหลือเหมือนสมาชิกคนอื่น โดยสวัสดิการที่จัดให้อาทิ เงินคลอดบุตร บำนาญ เงินช่วยเหลือเจ็บป่วย ทุนการศึกษาบุตรหลานสมาชิก เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยกรณีลงทุนทำธุรกิจที่ “ไม่เอาเปรียบสังคมหรือทำลายสิ่งแวดล้อม”โดยผลผลิตต้องขายให้สมาชิกในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 1 บาท เป็นต้น
.
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับเทศบาลตำบลขุนทะเล จัดโครงการตำบลต้นแบบด้านสังคม (Social Smart City) ณ อาคารธารคีรี สำนักงานเทศบาลตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ และนางปุณณิภัก ชื่นสุวรรณ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวรายงานโครงการฯ มีหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราช เทศบาลตำบลขุนทะเล และประชาชนตำบลขุนทะเล เข้าร่วม Kick Off โครงการฯ วัตถุประสงค์เพื่อจัดสวัสดิการแบบครบวงจร ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ได้รับบริการอย่างทั่วถึงเข้าถึงบริการของรัฐ เป็นการแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับชุมชนโดยมุ่งหวังการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัคร และประชาชน ในสังคมให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาสร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม ตลอดจนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการขับเคลื่อน Social Smart City มีแนวคิด การจัดสวัสดิการในพื้นที่โดยเชื่อมโยงกับสภาพปัญหาหลัก หรือลักษณะเฉพาะในพื้นที่ และทำเป็นพื้นที่ต้นแบบและจัดสวัสดิการแบบครบวงจร ทั้งนี้ การเชื่อมโยงบูรณาการโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการตามแนวทาง “ประชารัฐ” โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลไกการขับเคลื่อน เพื่อเสริมสร้างชุมชนต้นแบบ ครอบครัวอบอุ่น และชุมชนเข้มแข็ง ในพื้นที่ ซึ่งตำบลขุนทะเลเป็นพื้นที่รูปธรรมต้นแบบ ที่สร้างความยั่งยืนให้กับคนในชุมชนในทุกมิติ รวมทั้งการบูรณาการงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ประสานงาน นางวิลัยวรรณ ชัยเล็ก
โทร.096-8814102