เรียบเรียงโดย จำรัส เปล่งปลั่ง
ตำบลโคกพุทรา เป็นตำบลเล็กๆ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มี 7 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 – 3 เรียกว่าชุมชนโคกพุทรา ส่วนหมู่ที่ 4 เรียกว่าชุมชนบ้านกุ่ม และหมู่ที่ 5 – 7 เรียกว่า ชุมชนบ้านช้าง มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 6,959 ไร่ 805 ครัวเรือน พื้นที่ทั้งหมดเป็นที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพการทำเกษตร
จากอดีตที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยของคนในตำบลโคกพุทราหลายครอบครัว มีสภาพทรุดโทรม หลังคารั่ว ฝาผนังผุพัง ทำให้การอยู่อาศัยไม่มีความปลอดภัย ขาดความสุขในการดำรงชีวิต
เมื่อปี พ.ศ. 2550 ตำบลโคกพุทราได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการตำบลโคกพุทราขึ้น และมีการดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 3 รอบ มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ เช่น เกิด เจ็บ ตาย การศึกษา สาธารณะประโยชน์ ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดการเอื้ออาทร ความรักใคร่สามัคคีในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ต่อมา ปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกพุทราขึ้น โดยได้รวบรวมกลุ่มองค์กรในแต่ละชุมชน จำนวน 52 กลุ่ม มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการขับเคลื่อนงาน สมาชิกมาร่วมพูดคุย ปรึกษา หารือ และค้นหาปัญหา ตลอดจนแนวทางแก้ไข โดยมีขั้นตอนกระบวนการทำแผนพัฒนา ตามลำดับ จนสามารถได้แผนเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในเวลาต่อมา
โครงการบ้านพอเพียงก็เป็นอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัย สามารถแก้ไขปัญหาบ้านทรุดโทรม ทำให้คนในชุมชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ที่ผ่านมาชุมชนได้ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกพุทราเป็นพื้นที่กลางในการชี้แจ้งทำความเข้าใจกับผู้นำแต่ละชุมชน จัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยการแบ่งทีม พร้อมเอกสารแบบฟอร์ม ลงสำรวจทุกครัวเรือนในแต่ละหมู่ จากผลการสำรวจพบว่าตำบลโคกพุทรามีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 53 ครัวเรือน
เมื่อทราบข้อมูลผู้เดือดร้อนในตำบล ทางสภาองค์กรชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน รวมถึงผู้เดือดร้อนได้จัดเวทีประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบท เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ ของทางสถาบันพัฒนาชุมชน (องค์การมหาชน) และได้มีการเลือกคณะกรรมการโดยมีทั้งผู้นำชุมชนและผู้เดือดร้อนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการดำเนินงานและออกกฎกติการะเบียบข้อบังคับ เพื่อการดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน
ครั้นได้จำนวนผู้เดือดร้อนดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการจึงมาช่วยกันพิจารณาจัดลำดับความเดือนร้อน เพื่อดำเนินการซ่อมแซมตามจำนวนครัวเรือนที่ได้รับมา
ตำบลโคกพุทราได้จัดทำโครงการแก้ไขด้านที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านพอเพียงชนบท เมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกพุทราเป็นองค์กรนำเสนอขอรับงบประมาณดังกล่าวจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 10 หลังคาเรือน ได้รับงบประมาณ 180,000 บาท แต่สามารถนำมาปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้กับผู้เดือดร้อนได้ถึง 11 หลัง ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงซ่อมแซม เปลี่ยนหลังคา ผนังบ้าน ผนังห้องน้ำ และรื้อสร้างใหม่ ซึ่งผู้เดือดร้อนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ด้อยโอกาส ยากจนรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง กับโรคร้ายที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ
เช่นในรายที่เป็นโรคดังกล่าวคือ นางทัศนีย์ ภู่สาย อายุ 61 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 45/3 หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพุทรา มีอาชีพรับจ้างทำอาหารให้กับโรงเรียนในชุมชนใกล้บ้าน อาศัยอยู่กับลูกชายและหลาน ซึ่งต่อมาพอได้ซ่อมบ้านเสร็จลูกชายก็เสียชีวิต สภาพบ้านทรุดโทรมทั้งหลังต้องรื้อแล้วสร้างใหม่โดยใช้วัสดุ-อุปกรณ์ที่ยังพอใช้ได้มารวมกับวัสดุ-อุปกรณ์ที่ซื้อใหม่เป็นจำนวนเงิน 12,956 บาท มีคนในชุมชนตลอดจนท้องที่ท้องถิ่น เข้ามาช่วยดูแลทั้งในด้านแรงงานตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ถึงแม้จะเป็นบ้านขนาดเล็กแต่ก็สามารถสร้างความสุข ความปลอดภัยตลอดจนสร้างกำลังใจที่จะต่อสู่เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปได้
บ้านนางทัศนีย์ ภู่สาย ก่อนปรับปรุง หลังปรับปรุง
อีกรายหนึ่งเป็นครอบครัวที่ด้อยโอกาส หัวหน้าครอบครัวนายกิตติ พลอยแดง อายุ 62 ปี อาศัยอยู่กับภรรยาและบุตรชาย นายกิตติไม่มีอาชีพเนื่องจากสภาวะจิตใจไม่ปกติ ไม่สามารถเข้าสังคมได้ ภรรยาวัย 59 ปี เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ไขมัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีอาชีพเป็นหมอนวดตามบ้านรายได้ไม่แน่นอน บุตรชายวัย 20 ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไปมีบุตรที่ต้องดูแลวัย 2 ขวบ 1 คน รายได้จึงไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง สุขภาพจิตไม่ดี คนในครอบครัวขาดความรักใคร่และความสามัคคี
สภาพบ้านของครอบครัวนี้ชำรุดทรุดโทรม คือ หลังคาบ้านทั้งหลังเป็นรอยรั่ว ไม้แปรผุพัง ตัวเรือนบริเวณนอกชานและทางขึ้นบ้านที่เป็นไม้กระดาน ทอดยาวจากตัวพื้นดินขึ้นบ้านก็ผุพังไม่แข็งแรง ทำให้การขึ้นลงต้องระมัดระวังเพราะไม่มีความปลอดภัย แต่ด้วยงบประมาณจำนวน 27,285 บาทที่ได้มาไม่เพียงพอจึงซ่อมได้แต่หลังคาจากไม้แปรและสังกระสี มาเป็นเหล็กกล่องขนาด 3 นิ้วกับ เมทัลชีท ส่วนเรือนนอกชานกับทางขึ้นบ้านได้ใช้ไม้เก่าที่มีอยู่ซ่อมแซมให้แข็งแรง โดยผู้อาศัยลงมือทำเอง ช่วยเหลือตนเองและมีการดูแลด้านอาหารกับเครื่องดื่มจากผู้นำในชุมชน ทำให้การซ่อมแซมบ้านสำเร็จไปอย่างเรียบร้อย นอกจากนั้นยังมีการนำเหล็กกล่องที่เหลือเป็นบางส่วนมาเชื่อมต่อเป็นเตียงสำหรับนั่งเล่นพักผ่อนที่ลานดินในบริเวณบ้าน ทำให้ดำเนินชีวิตของคนในครอบครัว มีความสุข สภาพจิตใจดี มีการพูดคุยไปในทางที่ดีการทะเราะเบาะแว้งลดลง การอยู่อาศัยมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
บ้านนายกิตติ พลอยแดง ก่อนปรับปรุง
หลังซ่อมหลังคา
หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งกองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลโคกพุทราขึ้น โดยสมาชิกที่มีความสามารถในการชำระเงินคืนให้กับกองทุนร่วมสมทบร้อยละ 5 ระยะเวลาส่งคืนภาย 6 เดือน หลังจากซ่อมบ้านเสร็จแล้ว เพื่อเป็นกองทุนนำไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป
จากการขับเคลื่อนโครงการบ้านเพียงชนบทของตำบลโคกพุทราที่ผ่านมา นอกเหนือจากผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือให้มีบ้านอยู่อย่างมั่นคงและแข็งแรง มีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังได้ส่งผลให้คนในตำบลมีความสามัคคีรักใคร่ ช่วยเหลือกัน เกิดกองทุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนอื่นที่มีความเดือดร้อนแต่ไม่ได้รับงบประมาณ และยังเกิดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีในตำบลและจังหวัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลโคกพุทราจะประสบความสำเร็จมากพอสมควร แต่กระบวนการระหว่างทางก็มีข้อติดขัด มีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง อาทิ การรื้อบ้านส่งผลให้เกิดความเสียหายเพิ่ม เป็นภาระให้กับผู้เดือดร้อน ขาดเครื่องมือในการซ่อมแซม งบประมาณไม่เพียงพอ และยังไม่มีงบประมาณในส่วนของค่าแรงในการซ่อมสร้างบ้าน ทำให้เป็นภาระกับเจ้าของบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น ก็ถือได้ว่าโครงการบ้านพอเพียงชนบท ยังเป็นโครงการที่ผู้เดือนร้อนในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คงเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยขึ้น และคนในชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือกันและกันนั่นเอง