ตำบลกันทรารมย์ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอที่เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชอาหารทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทพืชไร่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่พี่น้องประชาชนในตำบลมีความถนัด แต่เนื่องจากกระแสของความเจริญได้รุกคืบเข้าสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วทำให้ขาดภูมิคุ้มกันในการดำเนินวิถีชีวิต และการบริโภคนิยม ขาดวินัยทางการเงิน ทำให้มีปัญหาหนี้สิน ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้จากผู้ที่ดำรงตนอยู่ได้จากตามแนวทางดังกล่าวทำให้ไม่เดือดร้อนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ครอบครัวอบอุ่นมีคุณภาพ
ด้วยสภาพที่ดินเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกกลุ่มเกษตรผสมผสานหรือไร่นาสวนผสมจึงรวมกันคิดที่จะปรับพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งภายในแปลงปลูกควรมีพืชพันธ์นานาชนิด มีความร่มรื่น เย็นสบาย เพื่อให้พืชหลายชนิดมีการเอื้อเฟื้อต่อกันได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วพืชพันธุ์ที่พบภายในสวน มีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ผักป่า ผักสวนครัว และอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง รวมทั้ง แปลงดอกไม้ แปลงข้าว การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเพาะพันธ์ปลาในบ่อปลา เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานทุกสิ่งทุกอย่าง ในพื้นที่ได้อย่างลงตัว และที่สำคัญ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
เกษตรกรทฤษฎีใหม่ ตำบลกันทรรมย์จึงเป็นอีกหนึ่งของเกษตรกรที่หันมายึดแนวทางการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่มานานแล้ว จนวันนี้มีกินมีใช้ไม่ขัดสนแม้ภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศจะผันแปรไปในทิศทางใดก็ตาม
ที่นี่แต่ก่อนทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จลงทุนไปก็ขาดทุน หมดไปเป็นหมื่นๆ ปลูกพืชเชิงเดียวก็ ขาดทุนรายได้จากการขายผลผลิตน้อยกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ก็หันมาเลี้ยงปลา ก็ขาดทุนอีก เพราะต้องจ่ายทุกอย่างตั้งแต่พันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยง อาหารปลา แต่เวลาเอาปลาไปขายกลับขายไม่ได้ และที่ขายได้บ้างก็ไม่มีราคา ก็หมดทุนอีกเพราะมีความคิดแบบเอาเงินเป็นตัวตั้ง
ในที่สุดจึงชวนกันหันกลับมาปรับพื้นที่ ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงปลาแบบอินทรีย์ คือไม่พึ่งสารเคมีใด เพราะปลูกเพื่อกินเองในครอบครัว ปลูกไม้ยืนต้นที่สามารถเอื้อกับพื้นที่เพื่อการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์รวมเวลา 10 ปี ที่การเกษตรแบบนี้วันนี้ไม่เป็นหนี้ใคร มีกิน มีเหลือ ที่สำคัญไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเลยตั้งแต่หันหลังให้กับการปลูกพืชและเลี้ยงปลาแบบเชิงเดี่ยว
ช่วงที่หันกลับมาปลูกผักนั้นก็ทำกันเองภายในครอบครัว หวังปลูกเพียงเพื่อให้มีกินภายในครอบครัวไม่ต้องไปหาซื้อจากตลาดเท่านั้น เพราะเงินทองของครอบครัวไม่มีแล้วแถมยังเป็นหนี้ติดตัวอยู่นับแสนอีกต่างหาก ปลูกระยะหนึ่งก็มีผักเหลือก็เอาออกไปขาย
ในตอนแรกก็ขายไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีคนรู้จัก ช่วงนั้นคำว่าผักอินทรีย์ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะหันไปซื้อผักที่มีใบสวยก้านงามๆ ซึ่งต้องปลูกโดยใช้สารเคมีเท่านั้นจึงจะได้ผักสวยเช่นนั้น มาวันหนึ่งขายได้ 200 บาท ดีใจมากเพราะเป็นรายได้ที่เหลือจากกินภายในครอบครัว ต่อมาก็นำออกขายอีกก็เริ่มขายได้เพิ่มมากขึ้น
สังคมเริ่มเข้าใจและมีผู้สนใจซื้ออย่างต่อเนื่อง ก็นำเงินที่ขายได้มาลงทุนเพาะปลูกพืชผักเพิ่มเติม ก็มี ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว พืชสวนครัวส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก เกษตรกรผู้พลิกผันตัวเองจากหนี้ท่วมตัวมามีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียงในวันนี้
จากการทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดแนวทางการใช้ชีวิตแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีพ ไม่ลงทุนเกินความสามารถของตนเอง ไม่กู้เงินมาลงทุน จะลงทุนก็ต่อเมื่อมีผลกำไรและเพียงพอ แก่ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว แม้จะขาดทุนในการเพาะปลูกที่ลงทุนไปก็ไม่เสียหายทั้งหมด ชีวิตก็จะยังยืนอยู่ได้ เพราะทุนเดิมยังอยู่
เรียบเรียงโดย ขบวนองค์กรชุมชนตำบลกันทรารมย์ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์